เมื่อวานนี้ (6 สิงหาคม) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเกี่ยวกับแผนการกระจายวัคซีน Pfizer 1.5 ล้านโดส ที่ได้รับบริจาคจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการจัดส่งในล็อตแรกระหว่างวันที่ 4-7 สิงหาคม 2564 เพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ว่า กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการจัดสรรวัคซีน Pfizer ให้เป็นไปตามเกณฑ์และความจำเป็นของพื้นที่ โดยส่งให้หน่วยให้บริการรักษาพยาบาลต่างๆ โดยตรง และส่งให้สำนักอนามัย กรุงเทพฯ เพื่อนำไปกระจายให้หน่วยงานที่อยู่ในสังกัดของ กทม. หรือหน่วยงานอื่นที่แจ้งความประสงค์ไว้กับ กทม. อาทิ สถานพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาคลินิกเวชกรรม การกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ การฉีดให้ครอบคลุมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เป็นผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การควบคุมป้องกันโรค การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาวิชาการเกี่ยวกับเชื้อไวรัสชนิดนี้ ซึ่งมีโอกาสและมีความเสียงสูงต่อการติดเชื้อจากการปฏิบัติงานทั้งสิ้น เพื่อป้องกันการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตจากโรคโควิด
สำหรับภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่ 3 เพื่อใช้กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ ขณะนี้ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 จะได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็มแล้ว ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2564 มีบุคลากรทางการแพทย์ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดเข็มที่ 3 แล้วรวมจำนวน 175,190 ราย แบ่งเป็นวัคซีน Pfizer จำนวน 1,422 ราย และวัคซีน AstraZeneca จำนวน 173,768 ราย หากบุคลากรรายใดที่รายชื่อตกหล่น สามารถแจ้งความต้องการได้ที่สถานพยาบาลต้นสังกัด ซึ่งกรมควบคุมโรคพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้ทันและสอดคล้องกับสถานการณ์ความรุนแรงของการแพร่ระบาดในขณะนี้
สำหรับแผนการกระจายวัคซีนในช่วงวันที่ 6-7 สิงหาคม 2564 นี้ มีเป้าหมายจัดส่งให้ 68 จังหวัด และ กทม. ด้วย โดยได้รับแจ้งจากทางจังหวัดว่าวัคซีนถึงแล้ว เช่น สมุทรปราการ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี เป็นต้น ซึ่งแต่ละแห่งที่ได้รับวัคซีนได้ทยอยฉีดแล้ว อาทิ โรงพยาบาลชลบุรี, โรงพยาบาลพุทธโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา, สถาบันบำราศนราดูร, โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี เป็นต้น และจะเริ่มทยอยฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ตามความพร้อมของสถานบริการต่างๆ ต่อไป