วันนี้ (20 กรกฎาคม) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงผ่านศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข ในประเด็นการลงนามในสัญญาจัดหาวัคซีนโควิดชนิด mRNA ยี่ห้อ Pfizer เป็นจำนวน 20 ล้านโดส ระหว่างกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กับบริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยจะส่งมอบภายในไตรมาสที่ 4
นอกจากนั้นรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้บริจาควัคซีน Pfizer ให้กับประเทศไทยอีกเป็นจำนวน 1.5 ล้านโดสในปลายเดือนนี้ โดยเริ่มฉีดได้ในต้นเดือนสิงหาคมให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เป็นการกระตุ้นเข็มที่ 3 ก่อนอันดับแรก แล้วจึงฉีดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรัง 7 โรค กลุ่มชาวต่างชาติในประเทศไทยที่เป็นผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง และผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีน Pfizer ก่อนไปต่างประเทศเป็นลำดับถัดไป
ในด้านของวัคซีน AstraZeneca นพ.โอภาส ได้นำเสนอเส้นเวลาการจัดหาวัคซีน พบว่าตั้งแต่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีน AstraZeneca ครั้งแรกในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ใช้เวลาดำเนินการเห็นชอบ แก้ไขสัญญา อนุมัติกรอบวงเงิน จนเห็นชอบให้ดำเนินการในขั้นตอนสุดท้ายในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 รวมแล้วเป็นเวลาเกือบ 7 เดือนด้วยกัน
และยังได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นบริษัท AstraZeneca จะสามารถส่งวัคซีนให้กับไทยได้เป็นจำนวนประมาณเดือนละ 5-6 ล้านโดสเป็นอย่างต่ำ อาจจะได้รับมากขึ้นตามกำลังการผลิต ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยได้ตั้งแผนไว้ว่าเดือนต่อไปจะต้องฉีดวัคซีนให้ได้เดือนละ 10 ล้านโดส สำหรับส่วนต่างที่ขาดไปนั้นก็จะต้องจัดหาวัคซีนมาเพิ่มเติม รวมกับจำนวนของวัคซีน Pfizer ที่กำลังจะได้รับ
นอกจากนี้ นพ.โอภาส มีการเสนอผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน Sinovac ในการใช้จริง พบว่าในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ผลการศึกษาที่จังหวัดภูเก็ตพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อถึง 90.7% แต่เมื่อเข้าสู่เดือนพฤษภาคม ผลการศึกษาที่กรมควบคุมโรคพบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงอยู่ที่ 70.9% เนื่องจากเชื้อโรคเกิดการกลายพันธุ์ ทำให้เป็นที่มาของการปรับสูตรฉีดวัคซีน โดยการให้ฉีดเข็มแรกด้วยวัคซีน Sinovac และเข็มสองของ AstraZeneca จะทำให้ภูมิคุ้มกันของประชาชนเพิ่มขึ้นหลายเท่า และใช้ระยะเวลาห่างกันเพียงแค่ 4 สัปดาห์เท่านั้น