วันนี้ (7 สิงหาคม) กระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์โควิดประจำวัน โดยเฉพาะตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มในวันนี้ 212 ราย
จากข้อมูลผู้เสียชีวิตทั้ง 212 ราย สามารถแบ่งตามกลุ่มความเสี่ยงดังนี้
- ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 141 ราย (67%)
- อายุน้อยกว่า 60 ปี แต่มีโรคเรื้อรัง 55 ราย (26%)
- ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 14 ราย (6%)
- ตั้งครรภ์ 2 ราย (1%)
นอกจากนี้จากตัวเลขผู้เสียชีวิต 212 รายที่มีการรายงานวันนี้ พบประวัติการฉีดวัคซีน 192 ราย ส่วนที่เหลือประวัติยังไม่แน่ชัด โดยในจำนวน 192 ราย แบ่งเป็น
- ไม่เคยได้รับวัคซีน 172 ราย (89.58%)
- ได้รับวัคซีน 1 เข็ม 19 ราย (9.90%): AZ 17 ราย, SP 2 ราย
- ได้รับวัคซีน 2 เข็ม 1 ราย (0.52%): SV
“นั่นหมายความว่าคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปและมีโรคเรื้อรัง รวม 2 กลุ่มนี้คิดเป็น 93% ผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน เพราะฉะนั้นการฉีดวัคซีนจะลดอาการป่วยหนัก ลดความรุนแรงของโรคลงได้ ถ้า 2 กลุ่มนี้ได้รับการฉีดวัคซีนก่อนก็จะช่วยทำให้ลดการป่วยตายได้มากทีเดียว
“สำหรับตัวเลขผู้ป่วยในวันนี้มีจำนวน 21,839 ราย ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข ในกรณีที่การล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพ 20% นั่นหมายความว่าการล็อกดาวน์ของเราตอนนี้มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับ 20% อยู่ การเร่งฉีดวัคซีนตอนนี้จะยังไม่ทราบผลจนกว่าจะฉีดวัคซีนผู้สูงอายุและกลุ่มเป้าหมายโรคเรื้อรังให้ครบถ้วนมากกว่านี้ จึงจะดันยอดผู้ติดเชื้อให้ลดลงมาได้ เพราะฉะนั้นต้องตั้งเป้าร่วมกันว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้สามารถปรับตัวเลขให้ใกล้เคียงกับตัวเลขคาดการณ์กรณีที่มีการล็อกดาวน์อย่างมีประสิทธิภาพ 25% นาน 2 เดือน รวมกับการเร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุและกลุ่มเป้าหมายให้ได้ภายใน 1-2 เดือน” นพ.จักรรัฐ กล่าว
สำหรับ 3 แนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับทุกหน่วยงานพยายามเร่งทำเพื่อกดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ให้ได้ คือ
- การตรวจหาเชื้อแบบ ATK เพื่อจะได้เข้าสู่ระบบการรักษาทั้ง HI/CI และในโรงพยาบาล
- เพิ่มทีม CCRT ในการดูแลผู้ป่วยที่ผ่าน
- จัดตั้งศูนย์พักคอยรับผู้ป่วยกลับบ้าน เพื่อแบ่งเบาภาระเตียงในโรงพยาบาล
โดยขอความร่วมมือกับประชาชนในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ 3 เรื่องดังนี้
- งดรับเชื้อนอกบ้าน ด้วยการป้องกันตัวเอง ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นมากที่สุด เช่น หาซื้ออาหาร หรือจำเป็นต้องไปทำงาน และป้องกันตัวเองอย่างเข้มงวด
- งดแพร่เชื้อในครอบครัว โดยแยกรับประทานอาหารกับคนในครอบครัว แยกส่วนที่มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกันให้มากที่สุด
- ถ้าสงสัยว่าติดเชื้อให้รีบตรวจ ATK เพื่อที่จะเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน และเข้าสู่โรงพยาบาลกรณีที่มีอาการหนัก
สำหรับสถานการณ์ผู้เสียชีวิต มีการตั้งเป้าว่าผู้สูงอายุที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัดจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 70% ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม ขณะที่จังหวัดอื่นๆ ตั้งเป้าว่าต้องฉีดให้ครอบคลุม 50% ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม
“ตอนนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดเพื่อที่จะทำให้ผู้เสียชีวิต 212 รายที่มีการรายงานวันนี้ถูกกดลงมาในเร็ววันนี้จำเป็นต้องทำ 2 เรื่องคือ ลดการแพร่เชื้อให้กับกลุ่มเสี่ยง และให้ผู้สูงวัยได้ฉีดวัคซีนก่อนเพื่อลดอาการป่วยหนัก นี่คือสิ่งที่จำเป็นที่สุดที่จะช่วยการแพร่เชื้อ และลดการรับเชื้อจากนอกบ้านด้วย” นพ.จักรรัฐ ทิ้งท้าย