วันนี้ (21 กรกฎาคม) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม แถลงข่าวในประเด็นการบริหารจัดการโรงพยาบาลบุษราคัม ว่า โรงพยาบาลบุษราคัมจัดตั้งขึ้นตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่จะให้บริการดูแลคนผู้ป่วยโควิดในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และพื้นที่ข้างเคียง โดยรับผู้ป่วยผ่านสายด่วน 1668 กรมการแพทย์, 1669 สพฉ., 1330 สปสช. และจากหน่วยงานโดยตรง เช่น โรงเรียนแพทย์ สถาบันการแพทย์ต่างๆ สถาบันบําราศนราดูร โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ โรงพยาบาลต่างๆ ผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และจาก NGO เช่น กลุ่มเส้นด้าย เป็นต้น ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม ถึง 20 กรกฎาคม 2564 มีผู้ป่วยสะสม 10,395 คน รักษาหายแล้ว 6,955 คน ยังคงรักษาตัวประมาณ 3,300 คน ขณะนี้รับผู้ป่วยใหม่วันละ 300-400 คน
นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับบุคลากรที่โรงพยาบาลบุษราคัมมีจำนวนกว่า 300 คน เป็นแพทย์ 50-60 คน พยาบาล 200 คน ที่เหลือเป็นเภสัชกร นักรังสี ผู้ช่วยเหลือคนไข้และอื่นๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่จัดการเอกสารประมาณ 20 คน เกือบทั้งหมดมาจากหน่วยงานในภูมิภาค ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดขณะนี้มีผู้ติดเชื้อกระจายอยู่ทั้งในเขต กทม. และต่างจังหวัด ประมาณ 50 ต่อ 50 ทำให้ช่วงนี้และต่อจากนี้การส่งเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงานค่อนข้างยากลำบาก รวมถึงมีผู้ป่วยอาการหนักรักษามาระยะหนึ่งแล้ว ต้องให้ออกซิเจนประมาณ 500 คน และใช้เครื่องช่วยหายใจหรือเครื่องออกซิเจนไฮโฟลว์ (Oxygen High Flow) ถึง 170 คน ซึ่งมากที่สุดในประเทศ มีผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจ 6-9 คนต่อวัน ภาระงานของเจ้าหน้าที่หนักขึ้น ทำให้เกิดความกดดัน ความเครียด กระทบต่อการสื่อสารที่อาจไม่ทั่วถึง จึงได้มีการทบทวนประเด็นต่างๆ ที่สะท้อนมาจากทุกช่องทาง และเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์อาวุโส ร่วมกันแก้ไขปัญหา ทั้งการจัดหาเครื่องมือ จัดระบบการบริการให้สะดวกขึ้น และชี้แจงทำความเข้าใจกับบุคลากรแล้ว
นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ดูแลขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลบุษราคัม โดยอนุมัติค่าตอบแทนนอกเวลาราชการเพิ่มเป็น 2 เท่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีเป็นผู้ดำเนินการเบิกจ่ายค่าตอบแทนต่างๆ ตามระเบียบราชการ รวมทั้งได้จัดบุคลากรแบ็กออฟฟิศจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขช่วยงานด้านเอกสารวันละ 20 คน พร้อมเปิดรับอาสาสมัครบุคลากรสาธารณสุขจิตอาสาจากภูมิภาค แจ้งความประสงค์ผ่านหน่วยงานต้นสังกัด และรับสมัครผู้ป่วยที่รักษาครบ 14 วัน ซึ่งถือว่าหายป่วยตามคำนิยามของโรค จ้างงานดูแลผู้ป่วย เช่น เคลื่อนย้าย พลิกตัวคนไข้ที่มีอาการหนัก หรือช่วยทำความสะอาดภายในหอผู้ป่วย และงานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ส่วนประเด็นค่าเสี่ยงภัย ต้องทำตามระเบียบราชการ เนื่องจากใช้งบประมาณแผ่นดิน โดยมติ ครม. จัดสรรเป็นงวดๆ เหมือนกันทุกหน่วยงาน ส่วนค่าตอบแทนอื่นๆ เช่น ค่าเดินทาง มีระเบียบการเบิกจ่ายของปี 2560 ได้มอบให้โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าสอบทวน หากมีส่วนใดที่เป็นสิทธิประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการอย่างครบถ้วน หากมีเอกสารถูกต้องก็จะได้รับค่าตอบแทนในเดือนถัดไป
“สถานการณ์เช่นนี้ การแก้ปัญหานี้ เราต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน คุยเป็นเชิงบวกเพื่อให้เกิดการพัฒนา หากบางประเด็นยังไม่กระจ่างแจ้ง และส่งผลกระทบต่อองค์กร บุคคล หรือต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งทำงานหนักเกินกำลังอยู่แล้ว ขอให้ช่วยกันดูแลเพื่อให้เราผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันได้” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว