×

สธ. ระบุจับตาโควิดสายพันธุ์มิว ยันเร่งเพิ่มการสุ่มตรวจตัวอย่างเชื้อต่อเนื่อง

โดย THE STANDARD TEAM
06.09.2021
  • LOADING...
Supakit Sirilak

วันนี้ (6 กันยายน) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิดในประเทศไทย ถึงกรณีสายพันธุ์มิว (MU) ที่กำลังเป็นที่สนใจขณะนี้ว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) มีการจัดชั้นของการกลายพันธุ์โควิด ได้แก่ ชั้น VOI คือการกลายพันธุ์ที่อยู่ในความสนใจ ส่วนอีกชั้นคือ VOC คือการกลายพันธุ์ที่มีความน่าเป็นห่วงและกังวล ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ อัลฟา เดลตา เพราะมีการแพร่กระจายเร็วมาก ไม่ค่อยดื้อวัคซีน ส่วนเบตา แกรมมา แม้ว่าจะดื้อวัคซีน แต่การแพร่กระจายเชื้อไม่เร็ว

 

อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์มิวถูกจัดอยู่ในชั้น VOI คือการกลายพันธุ์ที่อยู่ในความสนใจ เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง E484K จากแกรมมา เบตา ทำให้หลีกภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าเดิม N501Y จากอัลฟา มีความต่อต้านวัคซีนที่ต่ำอยู่ ยังไม่มีข้อมูลว่าจะแพร่กระจายเชื้อได้เร็วหรือติดเชื้อง่ายหรือไม่ ซึ่งทั่วโลกยังพบน้อยมากเพียง 0.1% ปัจจุบันพบแล้ว 39 ประเทศ พบมากในสหรัฐอเมริกาประมาณ 2,400 ตัวอย่าง เฉลี่ย 37% โคลอมเบีย 965 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นประเทศแรกที่รายงานว่าพบสายพันธุ์นี้และพบมากในประเทศถึง 40% ของประชากรโคลอมเบีย โดยมีผู้ติดเชื้อประมาณ 5 ล้านคน เสียชีวิต 1.2 แสนคน จึงต้องเฝ้าระวังติดตาม และในประเทศอื่นๆ ได้แก่ เม็กซิโก สเปน เอกวาดอร์

 

ขณะที่ประเทศไทยมีการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดที่มีการตรวจตัวอย่างเชื้อสัปดาห์ละ 1,000 คน ที่มีการตรวจเฉพาะด้วย RT-PCR ซึ่งมีการใช้น้ำยาเฉพาะสายพันธุ์ และการตรวจโฮจีโนม โดยสุ่มจากผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ บุคลากรทางการแพทย์ หรือผู้ที่มีอาการหนักมากขึ้นในพื้นที่คลัสเตอร์ และกระจายไปส่วนภูมิภาคต่างๆ อาจจะมีการปรับกลุ่มเป้าหมายในการตรวจให้มากกว่าเดิม โดยนับตั้งแต่วันนี้ถึงเดือนธันวาคม 2564 จะมีการตรวจให้ได้ 10,000 ตัวอย่าง และจะมีการรายงานทุกสองสัปดาห์ไปที่ฐานข้อมูลโควิดโลก หรือ GISAID  

 

“ส่วนที่มีการพบเดลตากลายพันธุ์ AY12 ในไทย กำลังมีการพิจารณาในเรื่องของการใส่รหัสสายพันธุ์ให้ถูกต้องและจะเผยแพร่อีกครั้ง ขอย้ำในเรื่องการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ที่ฉีดไปกว่า 2 ล้านโดส เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน และยังไม่พบผลข้างเคียง นอกเหนือจากผลข้างเคียงของวัคซีนปกติ และหากหลังฉีดพบการเสียชีวิตจะต้องมีการตรวจพิสูจน์ เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน” นพ.ศุภกิจ กล่าว 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X