วันนี้ (18 กรกฎาคม) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเข้าถึงยารักษาโควิด โดยระบุว่า ผู้ติดเชื้อโควิดไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสทุกราย กรณีที่มีอาการเล็กน้อยสามารถใช้ยารักษาตามอาการหรือใช้ฟ้าทะลายโจรได้ ส่วนกรณีมีอาการที่ต้องได้รับยาต้านไวรัส ทั้งยาฟาวิพิราเวียร์, โมลนูพิราเวียร์, เรมเดซิเวียร์, แพกซ์โลวิด รวมถึงแอนติบอดี LAAB ที่จะเข้ามาในสัปดาห์หน้า จะขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ตามแนวทางและข้อบ่งชี้ของกรมการแพทย์ ซึ่งยาเหล่านี้ต้องสั่งใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้น การหาซื้อยารับประทานเองอาจได้รับยาปลอมและเป็นอันตรายได้
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งเป้าหมายให้โรคโควิดเป็นโรคประจำถิ่นที่ผู้ติดเชื้อสามารถดูแลตนเองได้ ซึ่งกรณียาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาที่แพทย์สั่งจ่ายให้ผู้ป่วยนำกลับไปรับประทานที่บ้านได้ โดยโรงพยาบาลเอกชนจะได้รับการสนับสนุนยาโมลนูพิราเวียร์จาก สธ. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์มาให้บริการผู้ป่วยโควิดเองเพิ่มเติมได้ ดังนั้น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาโมลนูพิราเวีย์มากขึ้น ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) กรณีโรคโควิด จึงเตรียมการให้คลินิกเอกชนสามารถจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์มาใช้ดูแลผู้ป่วยโควิดได้ด้วยเช่นกัน
“ที่ประชุมได้มอบหมายให้ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดทำแผนดำเนินการและกรอบระยะเวลาในเรื่องนี้ของโรงพยาบาลและคลินิกเอกชน โดยให้องค์การเภสัชกรรมร่วมจัดหายาเพิ่มเติม ซึ่งในอนาคตอาจขยายให้ร้านขายยาสามารถจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ได้ด้วย แต่ยังต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกรมการแพทย์ คือเป็นผู้ป่วยอาการสีเหลืองขึ้นไป สำหรับยาโมลนูพิราเวียร์ขณะนี้มีบริษัทที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว 3 บริษัท” นพ.เกียรติภูมิกล่าว