วันนี้ (19 มกราคม) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการปรับลดระดับเตือนภัยโควิดว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการประกาศเตือนภัยโควิดแก่ประชาชนเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตัว โดยเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 ได้ประกาศเพิ่มระดับเตือนภัยเป็นระดับ 4 เช่น การงดไปสถานที่เสี่ยง งดรับประทานอาหารและดื่มสุราในร้าน ให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมรวมตัวจำนวนมาก เดินทางข้ามจังหวัดเท่าที่จำเป็น โดยสารขนส่งสาธารณะเท่าที่จำเป็นและเพิ่มความระมัดระวัง งดเดินทางไปต่างประเทศ และป้องกันตนเองด้วย VUCA ร่วมกับการปรับสีของพื้นที่ ทำให้โอกาสติดเชื้อลดลง
ทั้งนี้ จากตัวเลขการติดเชื้อที่ผ่านมาในช่วง 10 วัน ถือว่าไม่รุนแรง มีแนวโน้มลดลง สามารถรับมือได้ และจากการเฝ้าระวังการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนพบว่าประมาณ 95% มีอาการไม่มาก ส่วนผู้เสียชีวิต 2 รายที่รับรายงานว่าติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน เป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัวค่อนข้างรุนแรง และผู้ป่วยอาการหนักอีกรายมีอาการของวัณโรคและพิษสุราเรื้อรังร่วม
โดยในวันพรุ่งนี้ (20 มกราคม) จะครบวงรอบติดตามมาตรการ 2 สัปดาห์ เพื่อการพิจารณาปรับลดระดับเตือนภัย ซึ่งต้องดูองค์ประกอบหลายอย่างประกอบกัน เช่น อัตราการแพร่เชื้อ การเสียชีวิต และขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาทางคลินิกของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน จากกรมการแพทย์และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 10,000 ราย เพื่อหาลักษณะการติดเชื้อว่าส่งผลต่อการป่วยหนักและเสียชีวิตอย่างไร สำหรับเป็นข้อมูลในการหารือปรับลดระดับการเตือนภัยและวางมาตรการต่างๆ ต่อไป ส่วนการตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. บนพื้นฐานทางวิชาการ
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับการจะเปิด Test & Go รอบใหม่ ต้องดูความสมดุล และเพิ่มเติมมาตรการ เช่น การเพิ่มการตรวจหาเชื้อ การเพิ่มความครอบคลุมระบบประกันภัย ซึ่งต้องหารือกับ ศบค. และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขณะนี้ยังมีผู้ที่ลงทะเบียนไว้ก่อนหน้านี้เดินทางเข้ามาและยังคงพบการติดเชื้อ โดยในวันนี้มี 59 ราย ส่วนการลดวันกักตัวในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเป็น 7 วัน + 3 วัน คือ กักตัวไม่เกิน 7 วัน ตรวจ ATK วันแรกและก่อนวันสุดท้าย เมื่อผลเป็นลบสามารถใช้ชีวิตเป็นปกติได้ แต่ต้องเข้มมาตรการ เลี่ยงคนจำนวนมาก และตรวจอีกครั้งในวันที่ 10 ขณะนี้ได้ผ่านการเสนอในที่ประชุม EOC แล้ว อยู่ระหว่างการออกเป็นเอกสารแนวทางการปฏิบัติต่อไป