×

สธ. แถลงแผนบริหารจัดการโควิด หลังยุบ ศบค. และปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง 1 ต.ค. นี้

โดย THE STANDARD TEAM
26.09.2022
  • LOADING...
อนุทิน ชาญวีรกูล

วันนี้ (26 กันยายน) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวการป้องกันควบคุมโรคโควิดของกระทรวงสาธารณสุข หลังยกเลิกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน และยุบศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.

 

อนุทินกล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิดทั่วโลกรวมทั้งไทยกำลังกลับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงปกติ มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในระดับต่ำมาก ภาพรวมมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นมาก ส่วนประเทศไทยถือว่าประสบผลสำเร็จในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด จนได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกและประชาคมโลก มีอัตราป่วยและเสียชีวิตระดับต่ำ 

 

ขณะที่ประชาชนมากกว่าร้อยละ 92 มีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนถึง 143.16 ล้านโดส และบางส่วนมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ โดยในช่วงเดือนกันยายนนี้มีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิตลดลงมาก รวมถึงมีอาการไม่รุนแรง ดังนั้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงได้เซ็นประกาศยกเลิกโควิดเป็นโรคติดต่ออันตราย และปรับเป็น ‘โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง’ ตามคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งที่ประชุม ศบค. เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ได้เห็นชอบยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด มีผลวันที่ 30 กันยายนนี้ และให้หน่วยงานต่างๆ นำมาตรการตามกฎหมายเข้ามาแก้ไขปัญหาตามปกติ

 

อนุทินกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข มี พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เป็นเครื่องมือหลักในการบริหารสถานการณ์ในระยะถัดไป โดยมีกลไกทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่ ซึ่งอาจปรับลดระดับความเข้มข้นของมาตรการตามสถานการณ์ เพื่อให้สังคมและเศรษฐกิจประเทศเดินหน้าต่อไปได้ 

 

นอกจากนี้ยังจัดทำแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เป็นกรอบการดำเนินงานให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป พร้อมยืนยันว่าภายใต้กลไกของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ยังสามารถบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนแผนได้ต่อเนื่อง โดยไม่กระทบสิทธิของประชาชน และรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้ยั่งยืนต่อไปได้

 

“เป็นที่น่ายินดีว่าประเทศไทยเป็นเป้าหมายการเดินทางของชาวต่างชาติเป็นอันดับต้นๆ หลังเปิดให้เข้า-ออกประเทศได้ตามปกติ มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาวันละ 5-6 หมื่นคน หรือเดือนละ 1 ล้านคนเศษ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกมากในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในระบบการแพทย์และสาธารณสุขของไทยอย่างมาก และเป็นโอกาสของการเติบโตด้าน Medical Tourism และการเป็น Medical Hub ในภูมิภาค สร้างรายได้ให้ประเทศตามนโยบาย Health for Wealth” อนุทินกล่าว

 

ด้าน นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลในสังกัด 900 กว่าแห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อีกกว่า 9,000 แห่ง มีบุคลากรทางการแพทย์กว่า 400,000 คน รวมถึงมีเตียงผู้ป่วยรองรับ 73,000 เตียง และมีความพร้อมในด้านยารักษาที่จะให้การดูแลผู้ป่วยโควิดในอนาคต

 

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิดของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง วันที่ 26 กันยายน 2565 มีผู้ป่วยรายใหม่ 319 ราย เสียชีวิต 8 ราย อัตราเสียชีวิต 0.1 เปอร์เซ็นต์ ผู้ป่วยกำลังรักษาในโรงพยาบาล 4,755 ราย ในจำนวนนี้มีอาการปอดอักเสบ 495 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 257 ราย อัตราครองเตียงระดับ 2-3 อยู่ที่ 7.8 เปอร์เซ็นต์ 

 

ขณะที่ผู้ป่วยรายสัปดาห์ที่รักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักที่บ้าน (เจอ แจก จบ) และ Home Isolation มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน จากสัปดาห์ที่ 28 จำนวน 143,827 ราย ล่าสุดสัปดาห์ที่ 38 ลดลงเหลือ 81,258 ราย อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตในสัปดาห์ที่ผ่านมา 89 ราย พบว่ายังเป็นกลุ่ม 608 ถึง 97 เปอร์เซ็นต์ และส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน ได้รับไม่ครบ หรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้น คาดการณ์ว่าหลังจากนี้จะพบการระบาดของโรคโควิดเป็น Small Wave ลักษณะเป็นตามฤดูกาลเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ และมีอัตราเสียชีวิตใกล้เคียงกันคือ 0.01 เปอร์เซ็นต์

 

นพ.โอภาสกล่าวต่ออีกว่า ผู้ที่มีอาการป่วยทางเดินหายใจแนะนำให้ปฏิบัติตนตามมาตรการ DMHT โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เมื่อต้องใกล้ชิดผู้อื่น ส่วนประชาชนทั่วไปให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในสถานที่แออัด หรือพื้นที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท เช่น โรงพยาบาล สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ/เด็กเล็ก และให้ตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วย สำหรับหน่วยงาน องค์กร สถานประกอบการ ให้คัดกรองอาการป่วยของพนักงานเป็นประจำ หากมีพนักงานป่วยจำนวนมากให้รายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที 

 

ส่วนมาตรการดูแลรักษาผู้ป่วยจะแบ่งตามระดับความรุนแรงของอาการ คือ

 

  1. ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือสบายดี และ

 

  1. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงและไม่มีปัจจัยเสี่ยง 

 

สองกลุ่มนี้ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) โดยให้สังเกตอาการที่บ้าน กินยาต้านไวรัสหรือยารักษาตามอาการตามที่แพทย์สั่ง ลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นด้วยมาตรการ DMHT 

 

  1. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบที่ไม่รุนแรง และ

 

  1. ผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมต้องรับออกซิเจน 

 

โดยสองกลุ่มหลังนี้จะรักษาในสถานพยาบาลแบบผู้ป่วยใน

 

“ประชาชนยังสามารถรับบริการฉีดวัคซีนโควิดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. กำหนด เน้นฉีดในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป และโรคเรื้อรัง ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นปีละ 1-2 ครั้งเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ขณะนี้ยังไม่มีคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกหรือสถาบันที่เชื่อถือได้ ขอให้รอคำแนะนำจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค รวมทั้งข้อมูลวัคซีนรุ่นใหม่ และระยะเวลาที่ป้องกันโรคได้” นพ.โอภาสกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X