×

กรมควบคุมโรคเผย อัตราเสียชีวิตส่วนเกินในไทยช่วงโควิดไม่มาก ผลจากประชาชนรับวัคซีนเกิน 80% ย้ำวัคซีนมีประโยชน์

โดย THE STANDARD TEAM
10.11.2022
  • LOADING...
กรมควบคุมโรค

วานนี้ (9 พฤศจิกายน) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงอัตราการเสียชีวิตส่วนเกิน หรือ Excess Death ว่า คือดัชนีตัวหนึ่งที่ใช้วัดการเพิ่มหรือลดลงของการเสียชีวิตในแต่ละประเทศในภาพรวมเปรียบเทียบกับจำนวนที่คาดการณ์ 

 

ซึ่งทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยใช้ประเมินผลกระทบของโควิดที่มีต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งมีหลายเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบบริการสุขภาพในระยะวิกฤตโควิด, การจำกัดการเดินทาง และความล่าช้าในการเข้ารับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย แต่ไม่พบหลักฐานที่แสดงว่าเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด

 

ในปี 2563 มีตัวเลขผู้เสียชีวิตในประเทศไทยที่เกิดจากทุกสาเหตุรวมกันต่ำกว่าที่คาด เนื่องจากขณะที่เริ่มมีการระบาดของโควิด ประเทศไทยใช้มาตรการปิดเมือง (Lockdown) ในหลายพื้นที่ และใช้มาตรการสาธารณสุขอื่นๆ ควบคู่ เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือ งดกิจกรรมเสี่ยง ทำงานจากบ้าน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอย่างได้ผลดี ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตลดน้อยลง 

 

แต่ปี 2564 พบว่าตัวเลขการตายส่วนเกินในประเทศไทยเพิ่มขึ้นไม่มากเปรียบเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขของประเทศที่รองรับภาวะวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดสะสมกว่า 143 ล้านโดส เท่ากับประชาชนกว่า 57 ล้านราย ซึ่งข้อเท็จจริงคือประเทศไทยได้เริ่มบริการฉีดวัคซีนล็อตใหญ่ในครึ่งปีหลังของ 2564 

 

โดยวัคซีน Pfizer เริ่มฉีดอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 ตุลาคม 2564 และในไตรมาสที่ 4 ได้เร่งฉีดวัคซีนทุกชนิดจนครบ 100 ล้านโดสในปลายเดือนธันวาคม 2564 ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการศึกษาอัตราการตายส่วนเกินในช่วงปี 2563-2564 พบว่า ปี 2563 ภาพรวมจำนวนเสียชีวิตต่ำกว่าจำนวนที่คาดการณ์ ส่วนปี 2564 มีการตายส่วนเกินเพิ่มขึ้น แต่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นระยะที่ประเทศไทยประสบกับการระบาดรุนแรงจากไวรัสสายพันธุ์เดลตา 

 

นพ.โสภณกล่าวต่อไปว่า การอ้างว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตที่สูงขึ้นในปีที่ผ่านมามีความเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดจึงไม่สมเหตุสมผล และไม่สอดคล้องกับช่วงระยะเวลาที่มีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก อีกทั้งการศึกษาในประเทศอื่นยังไม่พบหลักฐานความสัมพันธ์กับวัคซีนป้องกันโควิด 

 

หากย้อนทบทวนเหตุการณ์ช่วงกลางปี 2564 ที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด ทำให้ต้องระดมทรัพยากรทางการแพทย์และสาธารณสุขไปใช้ในการป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคโควิดอย่างเต็มที่ ทั้งกำลังคน เตียง การบริการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ โรงพยาบาลหลายแห่งได้ปิดหน่วยรักษาโรคอื่นๆ รวมทั้งปิดห้องผ่าตัดหากมีแพทย์และพยาบาลติดเชื้อ 

 

ดังนั้น จึงเกิดผลกระทบต่อการให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยรอผ่าตัดหรือรอเตียงนานขึ้น อาจทำให้อาการแย่ลงได้ อีกทั้งมีผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่ไม่กล้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเพราะกลัวติดโควิด รอจนอาการหนัก เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคปอด โรคไต ล้วนเป็นเหตุที่ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตส่วนเกิน ซึ่งเป็นสภาพเช่นเดียวกันที่เกิดขึ้นกับอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนแต่อย่างใด

 

นพ.โสภณกล่าวต่ออีกว่า ในทางตรงกันข้าม ข้อมูลคาดประมาณผลสัมฤทธิ์จากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของประเทศไทย ศึกษาโดย รศ.ดร.ชรินทร์ โหมดชัง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ พบว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ช่วยป้องกันการเสียชีวิตในประเทศไทยจำนวนกว่า 4.9 แสนราย 

 

โดยปี 2564 ป้องกันได้ประมาณ 382,600 ราย และในปี 2565 ป้องกันได้ประมาณ 107,400 ราย การที่ประเทศไทยสามารถปกป้องไม่ให้มีผู้เสียชีวิตจากโควิดได้จำนวนมาก เนื่องจากมีนโยบายการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพตรงเป้าหมาย กำหนดให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนก่อน เร่งรัดฉีดวัคซีนในพื้นที่ระบาดรุนแรง 

 

ซึ่งหากไม่มีมาตรการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด คาดได้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อโควิดเสียชีวิตอีกเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้ว่าระยะนี้ ผู้เสียชีวิตจากโควิดส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับหรือได้รับวัคซีนไม่ครบชุด และแม้อาการของโรคโควิดในเด็กมักไม่รุนแรง แต่ยังมีเด็กเล็กเสียชีวิตจากโควิดเป็นระยะและประวัติไม่ได้รับวัคซีนโควิด จึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่าการศึกษาและหลักฐานต่างๆ บ่งชี้ไปทางเดียวกันว่าวัคซีนมีประโยชน์ และไม่ควรปล่อยให้เด็กๆ เกิดการติดเชื้อตามธรรมชาติ ซึ่งอาจทำให้ป่วยหนักและเสียชีวิตได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising