วันนี้ (20 ธันวาคม) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการแถลงสถานการณ์โควิดประจำวันช่วงหนึ่งว่า ตอนนี้ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนแล้ว 89 ประเทศ และอีก 36 รัฐในสหรัฐอเมริกา ในภาพรวมการระบาดจากทั่วโลกของเชื้อโอไมครอน เป็นการระบาดของโอไมครอนชนิดพื้นฐาน (BA.1)
ส่วนในประเทศไทยมีรายงานพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนแล้ว 63 ราย หรือคิดเป็น 0.13% เมื่อคัดแยกสายพันธุ์ผู้ป่วยในไทยทั้งหมด โดยภาพรวมการระบาดยังพบสายพันธุ์เดลตาเป็นส่วนใหญ่ที่จำนวน 33,655 ราย คิดเป็น 68% ของผู้ป่วยโควิดทั้งหมด (ข้อมูลจากเดือนเมษายนถึง 19 ธันวาคม 2564)
ทั้งนี้ นพ.ศุภกิจ ยังเปิดเผยข้อมูลโดยสรุปเกี่ยวกับโอไมครอนในไทยว่า
- ผู้ติดเชื้อโอไมครอนมีเพิ่มเร็วขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สอดคล้องกับสถานการณ์โลก
- ทุกรายยังมีความเชื่อมโยงกับการเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ และไม่มี Index Case ในประเทศไทย
- สัดส่วนของผู้เดินทางเข้าประเทศ ไม่ว่าจะด้วยระบบ Test & Go, Sandbox, AQ พบเป็นผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนถึง 1 ใน 4
- การตรวจ RT-PCR 72 ชั่วโมงก่อนเข้าประเทศ และการตรวจ RT-PCR เพียงครั้งเดียวเมื่อมาถึงประเทศไทย มีโอกาสทำให้ผู้ป่วยหลุดจากระบบการคัดกรองไปได้ เนื่องจากผู้ป่วยโควิดอาจอยู่ในระยะฟักตัวที่ยังไม่แสดงอาการในทันที ทำให้อาจต้องมีการปรับมาตรการ Test & Go อีกครั้ง
- การตรวจสอบสายพันธุ์โอไมครอนยังทำได้ตามปกติ ทั้งแบบเบื้องต้น (Potentially) และแบบยืนยัน (Confirmed)
ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยผลการสอบสวนโรคจากผู้ติดเชื้อโอไมครอน พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศแล้วเป็นรายแรก
ในรายละเอียดเป็นหญิงไทยอายุ 49 ปี ไม่มีโรคประจำตัว พักอาศัยกับสามีชาวโคลัมเบีย ที่พบว่าติดโควิดและยืนยันสายพันธุ์โอไมครอนตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2564 มีประวัติได้รับวัคซีน AstraZeneca แล้ว 2 เข็ม ส่วนไทม์ไลน์มีดังนี้
4-7 ธันวาคม 2564: หญิงไทยวัย 49 ปี ดูแลสามีที่เริ่มมีอาการ ไข้ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ก่อนพาสามีไปตรวจ ATK ผลออกมาพบว่าติดโควิด โดยแพทย์สงสัยว่าเป็นสายพันธุ์โอไมครอนจึงส่งตรวจหารหัสพันธุกรรม โดยสามีผู้เป็นผู้ป่วยเข้าแอดมิตรักษาตัวที่โรงพยาบาล ส่วนภรรยานั่งรถแท็กซี่กลับบ้านพร้อมทำ Home Qurantine
10 ธันวาคม 2564: ภรรยาไปรับผลตรวจหารหัสพันธุกรรมของสามีที่โรงพยาบาล โดยผลตรวจยืนยันเป็นเชื้อโอไมครอน
12-19 ธันวาคม 2564: ภรรยาเข้าเริ่มมีอาการป่วยจึงเข้าแอดมิตที่โรงพยาบาล และพบว่าติดโควิด ก่อนส่งตรวจหารหัสพันธุกรรม โดยผลพบว่าเป็นเชื้อโอไมครอน ทำให้เป็นผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์โอไมครอนคนแรกของไทยที่ไม่ได้เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ
ส่วนการปรับมาตรการควบคุมโรคภายหลังไทยพบสายพันธุ์โอไมครอนที่เพิ่มมากขึ้น นพ.จักรรัฐ ระบุว่า ในส่วนของโอไมครอนจะเน้นไปที่ระบบการเฝ้าระวังเป็นหลัก โดยลำดับแรกจะยังเน้นเฝ้าระวังกับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยเป็นหลัก และใครที่มีผลตรวจพบโควิดจะส่งตรวจเพื่อหาเชื้อโอไมครอนซ้ำอีกครั้งในทุกราย
ประเด็นต่อมาจะมีการตรวจหาสายพันธุ์โอไมครอนในกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ที่อยู่ในสถานที่เสี่ยง โดยจะการสุ่มตัวอย่างมาตรวจ เช่น ในพื้นที่ร้านอาหาร รวมถึงตลาดต่างๆ เพื่อป้องกันและให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีการระบาดของโอไมครอนในชุมชน ขณะที่มาตรการรับคนเข้าประเทศด้วยระบบ Test & Go อาจต้องมีการพิจารณาและปรับเพิ่มเติมเพื่อสอดคล้องกับระบบป้องโควิดที่เข้มข้น
นอกจากนี้ นพ.จักรรัฐ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาที่มีการเร่งตรวจหาสายพันธุ์โอไมครอนเพิ่มขึ้น ทางกรมวิทย์ฯ ได้มีการนำกลุ่มตัวอย่างของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาตรวจเพิ่มเติมทั้งหมดแล้ว ไม่พบการติดเชื้อโอไมครอนเพิ่มเติมจากที่รายงานไปก่อนหน้านี้
ส่วนกรณีของผู้เดินทางมาจากซาอุดีอาระเบีย ทุกรายอยู่ในระบบกักตัวและมีการติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของปัตตานีและภูเก็ต รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วย ซึ่งสามารถมั่นใจได้ว่าการพบเชื้อโอไมครอนยังเป็นการพบแบบกลุ่มที่ไม่มีการระบาดของเชื้อไปยังนอกกลุ่ม
อ้างอิง: