วันนี้ (18 กุมภาพันธ์) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิดว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อโควิดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูลวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 มีการครองเตียงในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นจากวันที่ 16 มกราคม 2565 ประมาณเท่าตัว คือ 64,900 ราย ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นไม่มาก คิดเป็นสัดส่วนแล้วยังไม่มีความแตกต่าง
สำหรับภาพรวมทั้ง 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ มีเตียงในโรงพยาบาลและฮอสพิเทลทั้งหมด 174,029 เตียง ใช้แล้ว 80,756 เตียง เหลือเตียงมากกว่าครึ่งหนึ่ง คือ 93,273 เตียง เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีเตียง 55,369 เตียง ใช้แล้ว 25,359 เตียง ยังว่างเกินครึ่งคือ 30,010 เตียง แต่บางจังหวัด เช่น นครราชสีมา เตียงระดับสีเขียวในโรงพยาบาลมีการครองเตียง 100% ดังนั้นจึงขอความร่วมมือประชาชน หากติดเชื้อเป็นกลุ่มอาการสีเขียว คือไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย ขอให้เข้าระบบการดูแลที่บ้านหรือชุมชน (HI/CI First) จะทำให้เตียงในโรงพยาบาลมีเพียงพอรองรับผู้ติดเชื้อที่จำเป็นต้องใช้เตียงในโรงพยาบาล และสำรองเตียงระดับสีเหลืองและแดงไว้สำหรับกลุ่มเสี่ยง
“ขณะนี้เริ่มพบผู้ป่วยโรคอื่น เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ ที่ควบคุมอาการไม่ได้ หรือมีเลือดออกในกระเพาะอาหารที่ต้องนอนรับการรักษาในโรงพยาบาล เมื่อคัดกรองโควิดก่อนพบว่ามีการติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการของโควิด ซึ่งกลุ่มนี้จำเป็นต้องใช้เตียงโควิดระดับสีเขียวในโรงพยาบาล ดังนั้นจึงขอให้ผู้ติดเชื้ออาการสีเขียวที่ไม่มีโรคประจำตัวเข้าสู่ HI/CI ก่อน” นพ.สมศักดิ์กล่าว
สำหรับพื้นที่ กทม. ระบบ HI สามารถรองรับผู้ป่วยรายใหม่ได้ 5,540 รายต่อวัน สะสม 43,075 รายต่อวัน ส่วน CI มี 3,400 กว่าเตียง มีการครองเตียงครึ่งหนึ่ง โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะเปิดอีก 13 แห่ง ประมาณ 1 พันกว่าเตียง จะทำให้มี CI ประมาณ 5 พันเตียง อย่างไรก็ตาม เพื่อเตรียมแผนระยะต่อไปหากมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น ได้ดำเนินการเตรียม Hotel Isolation สำหรับผู้ที่มีปัญหาไม่สามารถรับการรักษาใน HI/CI ได้ เช่น ผู้พักอาศัยในคอนโดมิเนียม แต่นิติบุคคลไม่ให้กักตัวในคอนโด และมีข้อจำกัดในการเข้า CI และจัดทำ UCEP Plus เพื่อให้ผู้ติดเชื้ออาการสีเหลืองที่ต้องใช้ออกซิเจน และสีแดงที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ รวมถึงกลุ่มอาการสีเขียวที่มีโรคที่ควบคุมไม่ได้ สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพกำลังดำเนินการออกหลักเกณฑ์ รวมทั้งมีการขยายเตียงเพิ่มขึ้นจากเตียงผู้ป่วยที่ไม่ใช่โควิด