×

ถอดรหัส Moody’s หั่นเครดิตไทยจาก Stable เป็น Negative หอการค้าเตือนสัญญาณอันตราย

01.05.2025
  • LOADING...
Moody’s

หอการค้าไทยแสดงความห่วงกังวลต่อกรณีที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s Investors Service ได้ประกาศปรับลดแนวโน้ม (Outlook) อันดับเครดิตของประเทศไทยจากระดับ Stable เป็น Negative ซึ่งแม้จะยังไม่ได้เป็นการปรับลดอันดับเครดิตโดยตรง แต่ก็ถือเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่าตลาดโลกเริ่มมีข้อกังวลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการคลังของไทยในระยะข้างหน้า

 

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานสภาหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยเห็นว่าการปรับลดแนวโน้มดังกล่าวย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระดับสากล โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และกำลังเร่งดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ การถูกตั้งข้อสังเกตจากสถาบันจัดอันดับชั้นนำอาจกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน รวมถึงต้นทุนการกู้ยืมของประเทศในอนาคต

 

Moody’s ระบุเหตุผลหลักมาจากความไม่ชัดเจนด้าน วินัยการคลัง, แผนการบริหารหนี้สาธารณะ, และศักยภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐ ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของภาคเอกชนที่เห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้อง ‘เร่งสร้างความเชื่อมั่น’ ด้วยการแสดงให้เห็นถึงแผนการบริหารจัดการด้านการคลังที่เป็นรูปธรรม โปร่งใส และสอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

“ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจัยภายนอกยังเพิ่มความเปราะบางให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะท่าทีของสหรัฐอเมริกาในการพิจารณาขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้า ซึ่งไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกย่อมได้รับผลกระทบ หากนโยบายเหล่านั้นถูกนำมาใช้จริงในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ การเตรียมพร้อมและการกระจายความเสี่ยงจากตลาดดั้งเดิมจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน”

 

แม้สถานการณ์ในบางด้านจะมีความเปราะบาง แต่หอการค้าไทยยังเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาคการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนจากภาคเอกชนที่เริ่มฟื้นตัว และอุตสาหกรรมศักยภาพใหม่ๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล และเกษตรแปรรูป อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะเดินหน้าได้อย่างมั่นคงก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมั่นจากต่างประเทศรองรับอยู่

 

ในด้านการค้าโลก หอการค้าฯ เห็นว่าหากโลกเข้าสู่ยุคของมาตรการกีดกันทางการค้ารอบใหม่ ภายใต้ทฤษฎีกาลักน้ำ ประเทศไทยต้องเร่งขยายตลาดส่งออกใหม่ ในกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพสูง เช่น อินเดีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง เพื่อชดเชยตลาดหลักที่เริ่มมีความผันผวน

 

“ในภาพรวม หอการค้าไทยขอเน้นย้ำว่า การปรับลดแนวโน้มเครดิตไทยครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงประเด็นทางเทคนิคหรือการเงินระหว่างประเทศเท่านั้น แต่คือคำเตือนทางนโยบาย ที่สะท้อนว่าประเทศไทยจะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นใจ หากขาดการบริหารจัดการที่รอบคอบ โปร่งใส และมีเป้าหมายชัดเจน”

 

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะของหอการค้าไทยฯ คือ การเร่งปรับตัวของภาคธุรกิจไทยให้พร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพแรงงาน การส่งเสริมนวัตกรรม และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

 

ถอดรหัส Moody’s หั่นเครดิต มีผลต่อเศรษฐกิจไทย?

 

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการ บริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ผ่าน Facebook ส่วนตัว ว่า ข่าวที่ทุกคนสนใจเมื่อคืนนี้ คงไม่พ้นการลด Outlook ของไทยจาก Stable มาเป็น Negativeซึ่ง Moody’s เป็นเจ้าแรกใน 3 Ratings Agencies ใหญ่ของโลก ที่เริ่มนำร่องปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับไทย ในรอบนี้ซึ่งเป็นเรื่องที่มีนัย

 

เพราะสำหรับ Moody’s นั้น Negative Outlook เป็นก้าวแรก ที่อาจจะนำไปสู่การลด Rating ลงได้ในอนาคต ‘เป็นการเตือนประเทศไทย’

 

ส่วนอีก 2 เจ้าใหญ่ที่เหลือ คือ S&P และ Fitch Ratings การประกาศของ Moody’s จะเป็นการกระตุ้นให้อีกสองเจ้าต้องเริ่มกลับมาดูข้อมูลโดยละเอียดอีกรอบ และทบทวนว่าจะปรับเปลี่ยนมุมมองของไทยตามหรือไม่

 

ที่มีการปรับเปลี่ยนมุมมองหรือ Outlook ของไทย Moody’s ชี้แจงว่า มาจาก

 

‘risks that Thailand’s economic and fiscal strength will weaken further’

 

ความเสี่ยงที่สถานการณ์เศรษฐกิจและสถานะภาคการคลังของไทยอาจจะอ่อนแอลงไปกว่านี้ 

 

ซึ่งมาจาก นโยบาย Tariffs ของสหรัฐที่กำลังส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าของโลก ที่จะกระทบต่อมาที่ประเทศไทยซึ่งพึ่งพาต่างประเทศมาก

 

นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนว่าหลังจากชะลอไป 90 วัน ไทยและประเทศต่างๆ จะโดนเก็บภาษีนำเข้าเท่าไร

 

ทั้งหมดนี้ จะซ้ำเติมปัญหาเดิมที่ไทยมีก่อนหน้าอยู่แล้ว คือการที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ไม่ดีเทียบกับคนอื่นๆ หลังจบปัญหาเรื่องโควิด และปัญหาการลดลงของศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่เราโตช้าลงเรื่อยๆ

 

Moody’s กังวลใจ ไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐสูง?

 

ดร.กอบศักดิ์ ระบุว่า ที่ Moody’s กังวลใจก็คือ ไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐในการส่งออก และจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain ในการผลิตสินค้าของภูมิภาคหากเศรษฐกิจไทยโตช้าลงกว่านี้อีก จากความปั่นป่วนในเศรษฐกิจโลก จะส่งผลกระทบไปที่สถานะภาคการคลังที่อ่อนแออยู่แล้วตั้งแต่ช่วงโควิด ให้แย่ลงไปจากเดิม

 

ดังนั้น จึงให้มุมมอง Negative กับไทย แต่ที่น่าสนใจก็คือ การปรับลดเป็น Negative ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การลด Rating เสมอไป เป็นการเตือนว่า “จับตามองแล้วนะ” “มีความเสี่ยง”

 

ในอดีต ช่วงวิกฤตการเงินโลก 2008 ก็เคยลด Outlook ของไทยเป็น Negative แต่เมื่อเราผ่านช่วงวิกฤตนั้นมาได้ 2 ปีให้หลังก็ปรับมาเป็น Stable อีกครั้ง

 

ในรอบนี้เช่นกันMoody’s บอกว่า Outlook เปลี่ยนได้ถ้าไทยสามารถขยายตัวได้สูงกว่าที่เขาคาดไว้ในใจอย่างต่อเนื่อง ที่จะช่วยให้สถานะการคลังไทยดีขึ้น 

 

“หมายความว่า ถ้าเราขาดดุลการคลังได้น้อยลง และเป็นหนี้ภาครัฐต่อ GDP ลดลง จากเศรษฐกิจที่โตต่อเนื่อง เขาก็จะกลับไปที่ Stable ได้”

 

ขณะเดียวกัน Moody’s เตือนว่าNegative Outlook รอบนี้ อาจจะตามมาด้วยการลด Rating ในอนาคต ถ้าหาก

 

  1. เศรษฐกิจไทยอ่อนแอลงไปกว่านี้ ศักยภาพในการเติบโตลดต่ำไปกว่านี้ จากการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างในด้านต่างๆ รวมทั้งจาก ความปั่นป่วนในระบบเศรษฐกิจโลกจากนโยบายสหรัฐ หรือ 2. ภาระหนี้ของภาครัฐไทยยังเพิ่มต่อเนื่องในช่วงต่อไป ทั้งจากปัญหาภายนอกและภายในที่จะเข้ามากระทบทำให้ไทยโตไม่ได้ หรือจากความตึงเครียดขัดแย้งทางการเมืองที่กระทบต่อความสามารถในการดำเนินนโยบายของไทย

 

ทั้งหมด เป็นการเตือน และแจ้งว่า Moody’s กังวลใจมองอะไรอยู่ และเขาอยากเห็นอะไรหน้าที่ของเราก็คือ เร่งแก้ไข ปรับปรุงตนเองซึ่งคงต้องทำ 3 เรื่อง

 

  1. ไม่ทำในสิ่งที่เขากังวลใจ

 

  1. เตรียมการให้เศรษฐกิจไทยผ่านมรสุมจาก President Trump ไปได้ พยายามลดผลกระทบที่เกิดขึ้น

 

  1. มุ่งสร้างอนาคตที่แท้จริง เพราะสิ่งที่ Moody’s อยากเห็นจริงๆ คือ ศักยภาพในการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ 3-4% เป็นอย่างน้อย ซึ่งหมายความว่า เราต้องเร่งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบ สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่จะสร้างรายได้ที่แท้จริง เพิ่มศักยภาพการวิจัยของไทย แก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัยที่เป็นโซ่ถ่วงประเทศ และที่สำคัญสุดคือ แก้ไขเรื่องการพัฒนาคนของไทย

 

ภาพ: Jira Pliankharom / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising