×

Moody’s จับตาดิจิทัลวอลเล็ต! เตือนจ่อ Downgrade หากหนี้สาธารณะเพิ่ม เศรษฐกิจอ่อนแอ การเมืองบั่นทอน

15.04.2024
  • LOADING...
digital wallet

Moody’s คงอันดับความน่าเชื่อถือ (Rating) ของไทยที่ Baa1 และคงมุมมอง (Outlook) ความน่าเชื่อถือของไทยในระดับมีเสถียรภาพ (Stable) เตือนหากหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ศักยภาพเศรษฐกิจไทยอ่อนแอลง และความเสี่ยงทางการเมืองเพิ่มขึ้น อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิต (Downgrade)

 

เมื่อวันที่ 11 เมษายน Moody’s Investors Service สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อชั้นนำของโลก ประกาศ ‘คง’ อันดับความน่าเชื่อถือของไทย (Sovereign Credit Rating) ไว้ที่ Baa1 (หรือเทียบเท่า BBB+) และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

 

สำหรับเหตุผลที่ Moody’s ตัดสินใจคงอันดับเครดิตเรตติ้งไทยมีดังนี้

  • รัฐบาลไทยคาดว่าจะรักษาเสถียรภาพของภาระหนี้ (Stabilize Debt Burden) ได้ในระยะปานกลาง
  • ตลาดทุนในประเทศยังเอื้อให้รัฐบาลสามารถกู้ยืมเงินได้ในอัตราต้นทุนต่ำ
  • รัฐบาลไทยมีโครงสร้างหนี้ (Debt Structure) ที่ดี ซึ่งช่วยสนับสนุนความสามารถในการชำระหนี้
  • ไทยมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีความหลากหลาย อีกทั้งมีนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิผล

 

เปิดความเสี่ยงฉุดอันดับเครดิตเรตติ้งไทย

 

อย่างไรก็ตาม Moody’s เตือนว่า เครดิตเรตติ้งไทยยังเผชิญแรงกดดันเชิงลบอย่างมากจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  • ความล่าช้าในการมุ่งเข้าสู่สมดุลทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ส่งผลให้ภาระหนี้รัฐบาล (Government Debt) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะกลาง
  • ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการคลังของประเทศไทยอาจอ่อนแอลงเกินคาด เนื่องจากศักยภาพทางเศรษฐกิจ (Economy’s Potential) ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และต้นทุนทางการเงินที่อาจสูงเกินคาดจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
  • อัตราการเติบโตตามศักยภาพ (Growth Potential) ที่อ่อนแอลง เป็นผลมาจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วขึ้น ท่ามกลางการลงทุนที่ชะลอตัว ทำให้จำกัดศักยภาพในการเติบโตของผลผลิตในระยะสั้นถึงปานกลาง
  • การแยกขั้วทางการเมือง (Polarisation) และความเสี่ยงทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง ยังคงเป็นข้อจำกัดอันดับเครดิตสำคัญ เนื่องจากเป็นปัจจัยปิดกั้นความคืบหน้าในการปฏิรูปที่สำคัญและกระตุ้นให้เกิดความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นปัจจัยขัดขวางการลงทุนอีกที

 

Moody’s จับตาดิจิทัลวอลเล็ต

 

Moody’s ระบุอีกว่า รัฐบาลไทยยังคงดำเนินนโยบายขาดดุลการคลังต่อไป หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติการขาดดุลที่กว้างขึ้นแตะ 4.4% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2568 เพื่อรองรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

 

ส่งผลให้ Moody’s คาดว่าหนี้รัฐบาลไทย (Government Debt) จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 58-59% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2568 จากระดับเพียง 33.7% ในปีงบประมาณ 2562 (ก่อนโควิด)

 

ในระยะกลาง Moody’s คาดว่า รัฐบาลจะรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภายในปี 2570-2571 ได้ผ่านการกลับมาใช้นโยบายการคลังที่เข้มงวดมากขึ้น ดังที่เกิดขึ้นในรอบการเมืองครั้งก่อนๆ

 

Moody’s คาดว่า ความสามารถในการจ่ายหนี้ของประเทศไทยจะยังคงแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีอันดับเครดิตใกล้เคียงกัน แม้ว่าไทยจะมีระดับหนี้ที่สูงกว่าในอดีตก็ตาม

 

เนื่องมาจากภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ของรัฐบาลไทยอยู่ที่ 5.6% เท่านั้นในประเทศไทยในปี 2566 เทียบกับค่ามัธยฐานที่ 8% สำหรับประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตเรตติ้งที่ Baa

 

Moody’s ยังคาดว่า การจ่ายดอกเบี้ยของประเทศไทยจะยังคงอยู่ที่ประมาณ 6% ของรายได้รัฐบาลในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

 

นอกจากนี้ หนี้ภาครัฐเกือบทั้งหมดได้รับการสนับสนุนทางการเงินในสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งช่วยปกป้องงบดุลของรัฐบาลจากผลกระทบจากปัจจัยภายนอก และด้วยระยะเวลาครบกำหนดโดยเฉลี่ยที่ยาวนาน

 

ปัจจัยที่อาจนำไปสู่การอัปเกรด

 

Moody’s ระบุว่า อันดับเครดิตของไทยอาจจะได้รับการปรับเพิ่ม หากมีการลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity-Enhancing Investment) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวจะช่วยชดเชยการเติบโตตามศักยภาพที่ลดลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากช่องว่างด้านทักษะในปัจจุบันและจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น โดยการลงทุนดังกล่าวยังอาจเกิดจากการปฏิรูปโครงสร้าง (Structural Reforms) ที่มีประสิทธิผลมากขึ้น

 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น การขยายตัวของ EEC และ/หรือการผ่อนคลายความเสี่ยงทางการเมืองอย่างถาวรด้วย

 

ปัจจัยนำไปสู่การดาวน์เกรด

 

Moody’s กล่าวอีกว่า อันดับเครดิตน่าจะถูกปรับลดหากรัฐบาลไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภาครัฐในระยะกลางได้ ซึ่งอาจมาจากความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการรัดเข็มขัดทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ในระยะกลางอ่อนแอลง

 

รวมไปถึงหากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าที่ Moody’s คาดการณ์ไว้อย่างต่อเนื่อง และหากความตึงเครียดทางการเมืองเพิ่มขึ้นจนทำให้สถาบันอ่อนแอลงอย่างมาก และขัดขวางการกำหนดนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising