×

นักเศรษฐศาสตร์ระบุ ‘เอเชีย’ ต้องเร่งคุมโควิด-19 ให้อยู่ก่อน Fed ขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดผลกระทบเงินไหลออก เศรษฐกิจซบเซา

22.06.2021
  • LOADING...
Moody’s Analytics

นักเศรษฐศาสตร์จาก Moody’s Analytics ระบุว่า ประเทศในเอเชียต้องรีบควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ได้ ก่อน Fed ขึ้นดอกเบี้ยในปี 2023 เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากเงินทุนไหลออก กดเศรษฐกิจชะลอตัว พร้อมประเมินประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนรายประเทศ พบ ‘ไทย’ ยังทำได้ไม่ดี

 

สตีฟ คอเครน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Moody’s Analytics กล่าวผ่านรายการ Squawk Box Asia ของสำนักข่าว CNBC ว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียจำเป็นต้องควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ได้ เพื่อสร้างความพร้อมในการรับมือกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed

 

ทั้งนี้ Fed มีถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่ให้สัญญาณชัดเจนว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2023 ซึ่งเป็นไทม์ไลน์ที่กระชับขึ้นจากถ้อยแถลงในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ระบุว่าน่าจะเริ่มเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2024 

 

การที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ขยับสูงขึ้นจะดึงดูดนักลงทุนข้ามชาติ ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารกลางแต่ละประเทศเร่งดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อป้องกันเงินทุนไหลออก อย่างไรก็ตาม การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัว

 

“ในตอนนี้ประเทศในอาเซียนจำเป็นต้องควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้อยู่หมัด เพื่อที่ว่าเมื่อ Fed ดำเนินการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว เศรษฐกิจในประเทศแถบนี้จะยังทรงตัวอยู่ได้ และสามารถรับมือกับการไหลออกของเงินทุนได้อย่างดี” คอเครนกล่าว 

 

เขาคาดการณ์ว่า Fed น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไตรมาสละ 0.25% เริ่มต้นในปี 2023 ขณะที่ Dot Plot ของเจ้าหน้าที่ Fed รายบุคคลมีความเห็นว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2023 

 

ทั้งนี้ ตามรายงานประจำเดือนของธนาคารโลกระบุว่า 2 ใน 3 ของประเทศแถบเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะมีผลผลิตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าช่วงก่อนการเกิดโควิด-19 และจะคงระดับนั้นไปถึงปี 2022 โดยปัจจัยที่บั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้น ได้แก่ การระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ และการล่มสลายของภาคการท่องเที่ยว

 

คอเครนกล่าวเพิ่มว่า จากการติดตามการรับมือกับโควิด-19 รายประเทศ พบว่า ญี่ปุ่น ไต้หวัน และมาเลเซีย เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่อีกครั้งเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ทำให้ทางรัฐบาลต้องใช้นโยบายรักษาระยะห่างทางสังคม ซึ่งส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาการกระจายและจัดฉีดวัคซีนล่าช้ากว่าทางสหรัฐฯ และยุโรป 

 

ขณะที่หลายประเทศ เช่น จีน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ มีการเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งถือว่าทำได้ดีแล้ว แต่ก็ต้องฉีดให้มากกว่านี้ 

 

ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ทั้งการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการฉีดวัคซีนยังไม่มีประสิทธิภาพพอ 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X