×

นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยช่วงโควิดคนไทยถูกหลอกขายสินค้าออนไลน์เพิ่มกว่า 1.1 พันเรื่อง ไม่ตรงป้าย-ไม่ตรงปก

โดย THE STANDARD TEAM
02.11.2021
  • LOADING...
มลฤดี โพธิ์อินทร์

วันนี้ (2 พฤศจิกายน) มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด ได้เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้มีการซื้อขายสินค้าและบริการในโลกออนไลน์มากขึ้น โดยผลการสำรวจเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาของบริษัทเอเจนซีที่ให้บริการด้านข้อมูลและเทคโนโลยีพบว่า คนไทยมีอัตราการช้อปปิ้งออนไลน์สูงที่สุดในโลก เนื่องจากการกระตุ้นของเทคโนโลยีและความกลัวที่จะไปเดินจับจ่ายภายในร้านค้า อย่างไรก็ตาม การซื้อขายสินค้าหรือการใช้บริการออนไลน์นั้นผู้บริโภคไม่สามารถเห็นหรือสัมผัสกับสินค้าก่อนที่จะตัดสินใจซื้อหรือรับบริการตามปกติได้ ก่อให้เกิดความเสี่ยง เช่น การไม่ได้รับสินค้า สินค้าหรือบริการที่ได้รับไม่เป็นไปตามคำโฆษณาหรือไม่ตรงปก และสินค้าได้รับความเสียหาย ที่สำคัญคือปัญหาเรื่องความปลอดภัยหรือการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว

 

มลฤดีกล่าวต่อไปว่า โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิดนั้น ปัญหาดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากข้อร้องเรียนผ่านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆ จากปี 2563 ถึงเดือนสิงหาคม 2564 ทั้งหมดจำนวน 1,167 ครั้ง แบ่งเป็น ปี 2563 มีการร้องเรียนทั้งหมด 742 ครั้ง ในกลุ่มสินค้าประเภทปัญหาที่มีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุด 3 ลำดับ ได้แก่ ไม่ได้รับสินค้าและบริการ จำนวน 179 ครั้ง ราคาไม่ตรงป้าย จำนวน 72 ครั้ง และราคาแพงเกินจริง จำนวน 69 ครั้ง

 

ขณะที่กลุ่มบริการประเภทปัญหาที่มีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุด 3 ลำดับ ได้แก่ ขอคืนสินค้าไม่ได้ ขอยกเลิกบริการไม่ได้ จำนวน 33 ครั้ง ชำรุดบกพร่องได้รับความเสียหาย จำนวน 17 ครั้ง และโฆษณาเป็นเท็จเกินความเป็นจริง จำนวน 10 เรื่อง และในปี 2564 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคทั้งหมดจำนวน 425 ครั้ง

 

“ทั้งนี้ จำนวนสถิติที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น ยังมีผู้บริโภคอีกจำนวนมากที่ได้รับปัญหาจากการซื้อสินค้าและใช้บริการออนไลน์แล้วไม่ได้ทำการร้องเรียน ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อตัวผู้บริโภค เช่น เด็กชายอายุ 14 ปี ที่เก็บเงินสั่งซื้อโทรศัพท์ออนไลน์มาเพื่อใช้เรียนออนไลน์ แต่ถูกโกงไม่ได้รับสินค้า ทำให้เด็กชายเครียดจนเส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิต จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการ ต้องบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อคุ้มครองพี่น้องประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ทั้งการปราบปรามอย่างจริงจังและการให้ความรู้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่เข้าสู่การซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์เพิ่มมากขึ้น” มลฤดีกล่าว

 

มลฤดีกล่าวต่อไปว่า วิธีการป้องกันการถูกหลอกลวงขายสินค้าอันดับแรกคือ เลือกซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการหรือเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไป การตรวจสอบจากรีวิวของลูกค้าอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากอาจมีการสร้างรีวิวเท็จขึ้นมาได้ อาจนำชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ค้าไปตรวจสอบในอินเทอร์เน็ตว่าเคยมีประวัติหรือมีคดีหลอกลวงฉ้อโกงหรือไม่ อีกทั้งหากไม่จำเป็นไม่ควรเสี่ยงซื้อสินค้าที่มีราคาถูกมากเกินไป

 

“ในส่วนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรากำลังเดินหน้าเชิญผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์พูดคุยหาทางออก รวมไปถึงวิธีป้องกัน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีเกือบทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ดังในไทยเป็นอย่างดี” มลฤดีกล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X