×

สรุปไทม์ไลน์ผู้ป่วย ‘ฝีดาษลิง’ รายแรกในไทย สถานการณ์ตอนนี้น่ากังวลหรือไม่?

โดย THE STANDARD TEAM
22.07.2022
  • LOADING...
ฝีดาษลิง

เมื่อวานนี้ (21 กรกฎาคม) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ออกมาให้ข้อมูลสำคัญ ระบุว่า ทางกรมพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง เป็นชาย สัญชาติไนจีเรีย อายุ 27 ปี มีประวัติเดินทางมาจากประเทศไนจีเรีย ให้ข้อมูลการป่วยว่า เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนมีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก มีผื่นแดง ตุ่มนูนแดง ตุ่มหนอง เริ่มจากอวัยวะเพศลามไปใบหน้า ลำตัว แขน และเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค

 

ทั้งผลการตรวจ PCR พบเชื้อ Monkeypox Virus โดยห้องปฏิบัติการที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (TRC-EIDCC) และผลจากห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ผลสรุปตรงกันว่า ชายดังกล่าวเป็นผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษลิงที่พบในประเทศไทยเป็นครั้งแรก 

 

THE STANDARD ประมวลข้อมูลทั้งหมดของผู้ป่วย ‘ฝีดาษลิง’ มาสรุปให้ผู้อ่านเข้าใจอีกครั้งว่า ความวุ่นวายหลังพบผู้ป่วย ‘ฝีดาษลิง’ รายแรกในไทยเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตอนนี้ผู้ป่วยหนีไปไหน? และแนวทางป้องกันโรคทางสาธารณสุขให้ไว้อย่างไรบ้าง

 

ไทม์ไลน์ตรวจพบผู้ป่วย ‘ฝีดาษลิง’ รายแรกในไทย

ผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นเพศชาย สัญชาติไนจีเรีย อายุ 27 ปี มีประวัติเดินทางมาจากประเทศไนจีเรีย ถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 และเข้าพักอาศัยที่คอนโดแห่งหนึ่งในตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ถึงปัจจุบัน

 

แต่เริ่มมีอาการป่วยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2565 มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีผื่นคัน ลักษณะตุ่มนูนแดง ตุ่มหนอง เริ่มจากอวัยวะเพศ ลามไปใบหน้า ลำตัว และแขน

 

ก่อนจะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในวันที่ 16 กรกฎาคม ซึ่งข้อมูลจากการตรวจพบว่า อุณหภูมิแรกรับอยู่ที่ 38.1 องศาเซลเซียส ความดันโลหิต 135/78 mmHg อัตราการหายใจ 18 ครั้งต่อนาที ชีพจรเต้น 91 ครั้งต่อนาที ผลการตรวจร่างกายพบตุ่มหนองกระจายตามอวัยวะเพศ ใบหน้า ลำตัว และแขน 

 

จากนั้นแพทย์ตรวจร่างกายเพิ่มเติมพบต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณขาหนีบทั้งสองข้าง และซักประวัติเพิ่มเติม พบมีประวัติสัมผัสนักท่องเที่ยวในสถานบันเทิงบริเวณป่าตอง ในช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนป่วย พร้อมทั้งให้ประวัติว่ามีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัย แพทย์สงสัยโรคฝีดาษลิง จึงส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการจากเลือด ผื่น แผล และลำคอ 

 

ต่อมาวันที่ 18 กรกฎาคม ผลการเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อ เบื้องต้นผลการตรวจ PCR โดยห้องปฏิบัติการที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (TRC-EIDCC) พบเชื้อ Monkeypox Virus 

 

ก่อนที่ในช่วงบ่ายวันที่ 19 กรกฎาคม จะได้รับการยืนยันโดยห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่าติดเชื้อโรค ‘ฝีดาษลิง’ โดยเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกที่มีความรุนแรงน้อย 

 

ปัญหาเกิด เมื่อผู้ป่วยหนี

เมื่อเจ้าหน้าที่ทีมแพทย์ได้รับการยืนยันจากห้องแล็บว่า ผู้ป่วยชาวไนจีเรียติดเชื้อโรคฝีดาษลิง และพยายามติดต่อให้เข้ารับการรักษาตามระบบ แต่ต้องพบปัญหาครั้งใหญ่ เมื่อผู้ป่วยมีท่าทีไม่ให้ความร่วมมือในการให้รักษา ด้วยพฤติกรรมตามไทม์ไลน์ที่รวบรวมโดยสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ดังนี้

 

16 กรกฎาคม: ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แต่ในระหว่างวันพบว่า ช่วงเวลา 14.10-15.13 น. ผู้ป่วยออกไปกินอาหารข้างนอกโรงพยาบาล 

 

18 กรกฎาคม: เวลา 19.33 น. กล้องวงจรปิดพบผู้ป่วยนั่งรถแท็กซี่ออกจากที่พัก (ขณะเดียวกันผลตรวจเชื้อจากห้องแล็บพบว่าติดเชื้อโรคฝีดาษลิง) ก่อนที่ในช่วงค่ำวันเดียวกันนั้น กล้องวงจรปิดของโรงแรม Patong Princess พบผู้ป่วยมาเช็กอินที่โรงแรม มีการสัมผัสกับพนักงานต้อนรับ พบผู้ป่วยมาเช็กอินเช่าห้องอยู่เป็นเวลา 2 วัน และชำระค่าที่พักด้วยเงินสด มีการสัมผัสกับพนักงานต้อนรับ โดยทั้งผู้ป่วยและพนักงานไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย พนักงานพาไปส่งที่ลิฟต์ จากกล้องวงจรปิดไม่พบผู้ป่วยออกมานอกห้อง ไม่ได้สั่งอาหารให้มาส่ง

 

19 กรกฎาคม: ผู้ป่วยยังอยู่ในโรงแรม โดยระหว่างวันแม่บ้านไปเคาะประตูห้อง ผู้ป่วยแง้มประตูเปิดคุยช่วงสั้นๆ ไม่ได้เข้าไปทำความสะอาด จนในเวลา 21.00 น. ผู้ป่วยออกจากห้องพักมาวางกุญแจที่เคาน์เตอร์ ไม่ได้พบพนักงาน แขกคนอื่น จากนั้นพนักงานต้อนรับนำกุญแจไปเก็บที่ชั้นวางทันที และไม่พบผู้ป่วยอีก (จากการสืบสวนของตำรวจ คาดว่าไปกับรถคันหนึ่งที่มาจอดรอที่หน้าโรงแรม)

 

ข้อมูลปัจจุบัน: พล.ต.ต. เสริมพันธ์ ศิริคง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ห้วงเวลาข้างต้นเจ้าหน้าที่ทีมแพทย์พยายามติดต่อผู้ป่วยเพื่อให้เข้ารับการรักษาผ่านทุกช่องทางที่จะติดต่อได้ แต่ผู้ป่วยไม่อ่านข้อความ ไม่ติดต่อกลับ และไม่เข้ารับการรักษาตามที่นัดหมายไว้ 

 

พร้อมคาดการณ์ว่า ผู้ป่วยจะยังพักอยู่ในภูเก็ตหรือออกไปแล้วก็เป็นได้ ตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ส่งข้อมูลสกัดกั้นช่องทางการบินโดยสารออกนอกจังหวัดหรือนอกประเทศไว้หมดแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างติดตามอย่างใกล้ชิด และจะแจ้งให้ทราบต่อไป

 

สธ. ให้ข้อมูลกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงไว้อย่างไร น่ากังวลหรือไม่?

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เคยเปิดเผยข้อมูลไว้หลังพบผู้ป่วยรายแรกในประเทศไทยว่า ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยคัดกรอง และส่งตรวจในผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับโรคจำนวน 19 ราย ซึ่งทั้งหมดมีผลตรวจพบว่าไม่เป็นฝีดาษลิง 

 

จึงขอให้ประชาชนทำความเข้าใจกับธรรมชาติของโรคนี้ อย่าตื่นตระหนก และมั่นใจได้ว่ากระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมในการรับมือโรคฝีดาษลิง ทั้งมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มงวด โดยกรมควบคุมโรคได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษลิงโดยเฉพาะ ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม เพื่อติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด 

 

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระดับโลก เนื่องจากไม่ได้เข้าเกณฑ์เรื่องความรุนแรงสูง แพร่ระบาดได้ง่าย และต้องจำกัดการเดินทาง การค้าระหว่างประเทศ โดยสถานการณ์ระดับโลกตั้งแต่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรายแรก จนถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 พบผู้ป่วยเพียง 12,608 ราย กระจายใน 66 ประเทศทั่วโลก ไม่ได้เพิ่มขึ้นรวดเร็ว หากเทียบกับโควิดที่ในเวลาไม่กี่เดือนพบผู้ติดเชื้อหลักล้านคน 

 

ทั้งนี้ 5 ประเทศที่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงมากที่สุด ได้แก่ สเปน 2,835 ราย, เยอรมนี 1,859 ราย, สหรัฐอเมริกา 1,813 ราย, อังกฤษ 1,778 ราย และฝรั่งเศส 908 ราย

 

สำหรับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปและสหรัฐฯ ข้อมูลทางระบาดวิทยาพบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างผู้ป่วย และเชื่อว่าอาจเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ แต่ต้องรอ WHO ยืนยันข้อมูลในส่วนนี้ก่อน ส่วนการติดต่อผ่านทางเดินหายใจไม่ใช่ลักษณะเด่นของโรคนี้

 

แนวทางป้องกันเบื้องต้น

ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งเตือนประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่สงสัยว่ามีอาการเสี่ยงให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย สถานพยาบาลรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยทางคลินิก ทั้งผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยยืนยัน เพื่อให้ WHO รวบรวมข้อมูลในการออกคำแนะนำหรือมาตรการต่อไป 

 

ขณะเดียวกันมาตรการป้องกันโรคโควิดยังใช้ได้กับการป้องกันโรคฝีดาษลิง โดยต้องเน้นล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีตุ่มหนอง ย้ำว่าต้องไม่ตีตราหรือลดทอนคุณค่าผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยง ส่วนคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ให้จัดระบบเฝ้าระวังคัดกรองสถานพยาบาลทุกแห่ง คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ หากพบผู้ป่วยต้องสงสัยต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยยืนยันต่อไป การรักษาจะรักษาตามอาการ เนื่องจากยังไม่มียาต้านไวรัสโดยตรง 

 

ส่วนวัคซีนที่มีการผลิตและเตรียมใช้มีหลายบริษัท กรมควบคุมโรคสั่งจองเบื้องต้นแล้ว ส่วนวัคซีนเดิม คือวัคซีนโรคฝีดาษ (Smallpox) ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เก็บไว้นานกว่า 40 ปี อยู่ในขั้นตอนการตรวจเช็กประสิทธิภาพว่าสามารถนำมาใช้ได้หรือไม่ 

 

วัคซีนโรคฝีดาษ (Smallpox) ที่เก็บไว้กว่า 40 ปี เป็นอย่างไรบ้าง

วันนี้ (22 กรกฎาคม) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ออกมาเปิดเผยความคืบหน้าผลการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนฝีดาษคน (Smallpox) ที่ อภ. ผลิตเก็บไว้นานกว่า 40 ปี

 

โดยระบุว่า หลังจากที่ WHO ได้ประกาศความสำเร็จในการกวาดล้างโรคฝีดาษไปจากโลกแล้วตั้งแต่ปี 2523 ทำให้การให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคฝีดาษในคนหยุดไป แต่เนื่องจากพบการระบาดอีกครั้งของโรคฝีดาษลิงในต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยต้องเฝ้าระวังโรคนี้อย่างใกล้ชิดและเตรียมการรองรับ

 

ซึ่งขณะนี้มีวัคซีนฝีดาษคนที่ อภ. ผลิตเก็บไว้นานกว่า 40 ปี และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้นำมาตรวจสอบคุณภาพวัคซีน โดยเป็นวัคซีนเชื้อเป็นเก็บในรูปผงแห้งที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ผลิตตั้งแต่ปี 2522 และ 2523 จำนวน 13 รุ่นการผลิต รวม 10,000 หลอด บรรจุหลอดละ 50 โดส รวมทั้งหมด 5 แสนโดส ทั้งนี้ วัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนรุ่นแรกที่ผลิตจากน้ำเหลืองของสัตว์ รูปแบบการนำมาใช้คือหยดลงผิวหนัง และใช้เข็มสะกิดผิวให้ถลอกเพื่อให้วัคซีนซึมผ่าน

 

โดยสรุปแล้ว วัคซีนฝีดาษจาก อภ. จำนวน 13 รุ่น ยังคงมีคุณภาพตามมาตรฐานวัคซีนไวรัสทั่วไป และยังคงมีคุณค่า หากเกิดการระบาดขึ้นในประเทศ และไม่สามารถจัดหาวัคซีนฝีดาษมาใช้ได้ในสถานการณ์ที่มีการระบาดไปทั่วโลก วัคซีนฝีดาษที่มีอยู่นี้น่าจะนำมาใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 

 

อย่างไรก็ตาม นพ.ศุภกิจย้ำว่าการที่จะนำมาใช้ได้ในสภาวะฉุกเฉินนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการพิจารณาถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่จะได้รับ รวมถึงวัคซีนทางเลือกที่มี เพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ได้รับวัคซีน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X