×

พระกับความหลากหลายทางเพศ และสิ่งที่ควรยอมรับมากกว่าตัวร้ายของพุทธศาสนา

11.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • สังคมไทยส่วนใหญ่มีอคติกับพระที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเกิดขึ้นจากอคติที่มีอยู่แล้วกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
  • ยิ่งกว่านั้นในทางศาสนายังพยายามสร้างพื้นที่ที่เรียกว่า ‘ควรปราศจากความหลากหลายทางเพศ’ โดยพยายามปิดกันการเข้าถึงการบวชและการบรรลุธรรมของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ
  • แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญไปกว่าผลงานหรือความดีเพียงอย่างเดียวที่เราควรจะยอมรับเขาคือ การยอมรับเขาในฐานะ ‘มนุษย์คนหนึ่ง’ ที่มีสิทธิ มีเสรีภาพที่จะเข้าถึงการบวช เข้าถึงธรรมที่เป็นแกนของศาสนาอย่างเท่าเทียมกับเพศชาย เพศหญิงได้

สังคมไทยถือว่าเป็นสังคมหนึ่งที่มีอคติกับผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่ไม่น้อย

 

ยิ่งในวงการพุทธศาสนาไทยแล้วยิ่งมีอคติที่สูงกว่าสังคมทั่วไป มีการกีดกันทางเพศในการเข้าถึงการบวช ไม่เพียงการกีดกันในแง่ของการเป็นนักบวชหรือเข้าถึงธรรมเท่านั้น

 

พุทธศาสนาไทยรวมถึงสังคมไทยยังพยายามสร้างความเป็นตัวร้ายให้กับกลุ่มพระตุ๊ด-เณรแต๋วอีกด้วย ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ควรเป็นเรื่องของตัวบุคคลมากกว่า ไม่เพียงเท่านั้นการสร้างภาพความเลวร้ายโดยการเหมารวมที่เกิดจากความอคติทางเพศแล้ว ยังเป็นการละเลยที่จะมองเห็นคุณค่าอะไรอีกหลายอย่างที่เขาเหล่านั้นสร้างคุณประโยชน์ไว้กับวงการพุทธศาสนาหรือชุมชน

 

ดังนั้นในบทความนี้จึงจะขอกล่าวถึงเรื่องสำคัญอยู่ 2 ประการ เรื่องการการกีดกันและการสร้างอคติ มายาคติ ต่อพระที่มีลักษณะความหลากหลายทางเพศ หรือพระตุ๊ด-เณรแต๋วในสังคมไทย เรื่องบทบาทและการได้รับการยอมรับจากคนในระดับชาวบ้านในพื้นที่ชุมชน รวมถึงจะกล่าวถึงมุมมองและการยอมรับที่พระตุ๊ด-เณรแต๋วควรได้รับ

 

การการกีดกันและการสร้างอคติ มายาคติ ต่อพระที่มีลักษณะความหลากหลายทางเพศ

สังคมไทยส่วนใหญ่มีอคติกับพระที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเกิดขึ้นจากอคติที่มีอยู่แล้วกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

 

คนในสังคมถูกหล่อหลอมด้วยการเสี้ยมสอนให้เข้าใจต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในแง่ลบ เช่น เป็นแบบนี้ไม่ถูก มันทุเรศ มันผิดธรรมชาติ ไม่เพียงแค่นั้น ยังถูกหล่อหลอมให้คิดว่าตุ๊ด ทอม ดี้ เป็นพวกอารมณ์รุนแรง นิยมความรุนแรง หรือแม้แต่กลุ่มเกย์ก็มักถูกมองว่าเป็นพวกหมกมุ่นทางเพศ เกี่ยวพันกับโรคเอดส์ (HIV) และการก่ออาชญากรรม

 

แม้ว่าในปัจจุบันสังคมไทยจะเริ่มเปิดกว้างและเริ่มยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศขึ้นมาบ้างกว่าในอดีต แต่อคติดังกล่าวยังคงไม่หมดไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นกลุ่มพระตุ๊ด-เณรแต๋ว ส่วนใหญ่จึงมักถูกมองอย่างดูถูกในลักษณะนี้เช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องความเสี่ยงที่เกี่ยวกับเรื่องทางเพศ

 

ยิ่งกว่านั้นในทางศาสนายังพยายามสร้างพื้นที่ที่เรียกว่า ควรปราศจากความหลากหลายทางเพศ โดยพยายามปิดกันการเข้าถึงการบวชและการบรรลุธรรมของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น การสร้างกฎเกณฑ์ข้อห้ามเพื่อกีดกันผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าบวช

 

โดยเฉพาะในความเชื่อตามพระวินัยที่ว่า ห้าม บัณเฑาะว์ บวชเป็นพระ โดยในพิธีกรรมการอุปสมบทจะต้องกล่าวถึงข้อห้ามที่พุทธศาสนาห้ามไว้  อย่างกรณีคำขอบวชที่กล่าวว่า ปุริโสสิ ที่แปลกันว่า เป็นชายใช่หรือไม่ ซึ่งก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าคำดังกล่าวมีขอบเขตความหมายมากน้อยเพียงใด เป็นชายที่มีพฤติกรรมหรืออารมณ์เยี่ยงสตรีเพศ หรือเป็นบุคคลสองเพศในลักษณะที่เป็นความผิดปกติทางกายภาพ

 

นอกจากการสร้างกฎเกณฑ์การห้ามผู้มีความหลากหลายทางเพศออกบวชแล้ว พุทธศาสนายังสร้างมายาคติต่อผู้คนเหล่านั้นด้วย โดยให้เหตุผลที่ห้ามเขาเหล่านั้นบวชในเชิงลบที่เกี่ยวกับเรื่องเพศว่า บัณเฑาะว์ ถือเป็นบุคคลประเภทหนึ่งที่ไม่ควรให้บวช เพราะบุคคลดังกล่าวถือเป็นผู้มีเพศบกพร่อง หรือเรียกในภาษาบาลีว่า อุภโตพยัญชนก หรือบุคคลที่มี 2 เพศ ถือว่าเป็นชายที่มีราคะกล้า ประพฤตินอกจารีตในทางเสพกามและยั่วยวนชายอื่นให้เป็นไปเช่นนั้น

 

ดังที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ศาสนาพุทธนั้นพยายามสร้างพื้นที่ที่เรียกว่า ควรปราศจากผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่เพียงเท่านั้น กฎข้อห้ามและคำอธิบายต่างๆ เหล่านี้ยังเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตสร้างกรอบความคิดที่เรียกว่า พระสงฆ์ในอุดมคติ ของคนในสังคมด้วย โดยเฉพาะเรื่องพระสงฆ์กับความเป็นชายที่สมบูรณ์ ดังนั้นเมื่อมีพระสงฆ์ที่มีลักษณะในทิศทางของการเป็นพระตุ๊ด-เณรแต๋ว สังคมจึงตราหน้าเขาเหล่านั้นอย่างเหมารวมว่าเป็นอลัชชี เป็นความอัปยศของพุทธศาสนา และเป็นผู้ที่ทำให้ศาสนาเสื่อมวิบัติ

 

ไม่เพียงเท่านั้นอคติและมายาคติเหล่านี้ยังถูกตอกย้ำและผลิตซ้ำอยู่อย่างต่อเนื่อง ผ่านการนำเสนอผ่านสื่อในสังคม ไม่ว่าจะเป็นข่าวหรือสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อเกิดเรื่องราวในด้านลบของพระตุ๊ด-เณรแต๋วบางรูป แม้ว่าความผิดดังกล่าวถือว่าเป็นความผิดส่วนบุคคล แต่สื่อต่างๆ กับมักจะนำเสนอความผิดดังกล่าวนั้นในแง่ของการเหมารวมทางเพศ โดยเราจะพบเห็นหัวข้อข่าวในลักษณะดังกล่าวนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น เสื่อมอีก..!! พระตุ๊ด-เณรแต๋ว โชว์ภาพอมเจ้าโลก-ล่าแต้ม-เที่ยวบาร์เกย์ หรือ พระตุ๊ด-เณรแต๋ว ความอัปยศของวงการพระพุทธศาสนา หรือ ฉาวทั้งปี! พระตุ๊ด-เณรแต๋วระบาดหนัก ชาวพุทธเสื่อมศรัทธาทำศาสนาเสื่อม หรือ แก๊งพระตุ๊ด-เณรแต๋ว อลัชชี อีสานฟ้อนรำในวัดสนุกสนาน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการผลิตซ้ำมายาคติและอคติแบบเหมารวมทางเพศอย่างไร้ความยุติธรรม จนทำให้พระตุ๊ด-เณรแต๋ว หรือพระสงฆ์ที่มีลักษณะที่มีทิศทางมีความหลากหลายทางเพศถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ร้าย และจะค่อยๆ ทำลายพุทธศาสนาไปด้วย

 

บทบาทและการได้รับการยอมรับจากคนในระดับชาวบ้านในพื้นที่ชุมชน

อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีกฎเกณฑ์ข้อกีดกันพระตุ๊ด-เณรแต๋วไม่ว่าจะทั้งทางวินัยและอำนาจคณะสงฆ์แห่งรัฐ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในวงการพุทธศาสนาของไทยในปัจจุบันก็มีกลุ่มพระที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือพระตุ๊ด-เณรแต๋วอยู่จำนวนมาก และแม้กระแสสังคมจะผลิตซ้ำและสร้างภาพเหมาความว่าเป็นผู้เลวร้าย แต่เราก็พบว่าก็มีพระตุ๊ด-เณรแต๋วอีกจำนวนมากที่มีความพฤติที่ดีและได้รับการยอมรับจากผู้คนในพื้นที่ชุมชนในระดับชาวบ้าน

 

ในพื้นที่ชาวบ้านระดับชุมชนเรื่องวินัยและกฎเกณฑ์สงฆ์ที่เกิดจากอำนาจคณะสงฆ์แห่งรัฐ รวมถึงเรื่องนิกายจะธรรมยุติ มหานิกาย ธรรมกาย พระป่า หรืออะไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญนัก และผู้คนก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าไร แต่สิ่งที่ชาวบ้านให้ความสำคัญและให้การยอมรับคือเรื่องของผลงานและการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อชุมชน ดังนั้นพระที่มีลักษณะเป็นพระตุ๊ด-เณรแต๋วอีกจำนวนมากที่ไม่มีพฤติกรรมในแง่ลบ มีผลงานและปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อชุมชนจึงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง หรือหากมีเรื่องเสื่อมเสียในด้านลบจริงๆ ชาวบ้านก็จะจัดการกันเอง เช่น ไล่ออกจากวัด หรือแจ้งเจ้าคณะปกครองให้ตรวจสอบ เป็นต้น

 

การยอมรับของชาวบ้านในกรณีของพระที่มีลักษณะเป็นพระตุ๊ด-เณรแต๋ว จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้สัมผัสมาในฐานะที่คนคนหนึ่งที่คลุกคลีกับวงการพระสงฆ์มาตั้งแต่เด็ก และเป็นคนที่โตมากับสังคมพื้นที่ชนบทที่มีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มพระตุ๊ด-เณรแต๋วมาตลอด ส่วนใหญ่จะได้รับการยอมรับกันในแง่ของผลงาน เช่น

 

1. มีความคิดที่ดีในการพัฒนาวัดวาอารามของชาวบ้าน เช่น ดูแลวัดวาดี สะอาดสะอ้าน มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เรื่องการดูแลรักษาวัดเป็นเรื่องที่สำคัญมากกับชาวบ้านในชุมชน เพราะเท่าที่เคยพูดคุยกับชาวบ้าน ชาวบ้านมักจะกล่าวว่าพระสงฆ์ที่มีลักษณะเป็นพระตุ๊ด-เณรแต๋วจะดูแลรักษาพัฒนาวัดดีกว่าพระที่เป็นชายแท้ พระที่เป็นชายแท้บางคนไม่ค่อยดูแลความสะอาด วัดสกปรก รกรุงรัง เวลาเข้ามาทำบุญหรือพิธีกรรมก็ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยไม่เป็นที่เจริญหูเจริญตา หรือมีความคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative) เวลามีกิจกรรมหรือพิธีกรรม มักจะจัดพิธีกรรมอย่างยิ่งใหญ่สวยงาม จัดดอกไม้สวยงามเป็นที่นิยมชมชอบของชาวบ้าน หรือแม้แต่ความคิดสร้างสรรค์ในแง่ของการบูรณะวัดก่อสร้างวัด พระตุ๊ด-เณรแต๋วจะสร้างวัดสวยงามมีการประดับประดาตกแต่ง รูปทรงที่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะในภาคเหนือบ้านของผู้เขียนก็จะเป็นวัดศิลปะแนวล้านนาประยุกต์ ที่มีการประดับตกแต่งไปด้วยลวดลายต่างๆ ประดับกระจกสี เป็นต้น และเชื่อกันว่า ‘ครูบาคติใหม่’ หลายรูปที่ได้รับการยอมรับนับถือจากผู้คนส่วนใหญ่ก็มีลักษณะไปในทิศทางนี้เช่นกัน

 

2. เรื่องของการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนและชาวบ้าน เช่น พระตุ๊ด-เณรแต๋วหลายรูปมีความคิดสร้างสรรค์ สร้างอาชีพรายได้ให้กับชุมชน อย่างเช่นวัดหนึ่งในเขตลำพูนมีการรื้อฟื้นกลุ่มงานหัตกรรมผ้าทอชาวบ้าน หรืออีกหลายวัดที่หาผู้ที่มีความรู้ความสามารถในงานฝีมือ งานวิชาชีพมาช่วยสอนชาวบ้าน เช่น การจัดดอกไม้หรือการตัดตุงตัดช่อ (ธง) กระดาษ งานทอตุงหัตกรรม งานสมุนไพร หรืองานนวด หรือแม้แต่เรื่องของกิจกรรมในชุมชน เช่น มีการตั้งกลุ่มแม่บ้านและกลุ่มเยาวชนในชุมชนเพื่อการสอนฟ้อน เช่น พระอาวุโสรูปหนึ่งในจังหวัดลำพูน ปัจจุบันน่าจะอายุ 90 ปีได้แล้ว ซึ่งคนในพื้นที่รู้จักกันดี ท่านจะตั้งกลุ่มแม่บ้าน เยาวชน สอนชาวบ้านฟ้อนเล็บ จนฟ้อนเล็บของท่านได้รับการยอมรับและเป็นที่เลื่องลือนาม ได้รับรางวัลแชมป์ประจำจังหวัด ประจำอำเภออยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และท่านก็ได้รับการยอมรับจากคนในชุมชนและจังหวัดจนได้รับการขนานนามด้วยความเคารพและความศรัทธาด้วยคำว่า ‘ครูบา’ ซึ่งคำว่า ‘ครูบา’ นี้เป็นคำเรียกขานพระสงฆ์ที่เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านในภาคเหนือหรือเขตวัฒนธรรมล้านนา

 

มุมมองและการยอมรับที่พระตุ๊ด-เณรแต๋ว ควรได้รับ

ดังที่กล่าวไปแล้วว่าพระตุ๊ด-เณรแต๋วจำนวนมากได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ชาวบ้าน ไม่ใช่เป็นกลุ่มพระที่จะต้องเลวร้ายชั่วช้าเหมือนกับสิ่งที่วินัยสงฆ์ คณะสงฆ์แห่งรัฐและสังคมได้ผลิตสร้างมายาคติแบบผิดๆ ไว้ไม่ แต่อย่างไรก็ตาม การยอมรับส่วนกลุ่มพระตุ๊ด-เณรแต๋ว ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการยอมรับที่ตัวผลงานเป็นหลัก ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องดีระดับหนึ่งในการเปิดรับและการยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศในวงการพุทธศาสนา แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญไปกว่าผลงานหรือความดีเพียงอย่างเดียวที่เราควรจะยอมรับเขาคือ การยอมรับเขาในฐานะ มนุษย์คนหนึ่ง ที่มีสิทธิ มีเสรีภาพที่จะเข้าถึงการบวช เข้าถึงธรรมที่เป็นแกนของศาสนาอย่างเท่าเทียมกับเพศชาย เพศหญิงได้

 

กล่าวโดยสรุป สังคมไทยและโดยเฉพาะพุทธศาสนานั้นมีการกีดกัน การผลิตสร้างมายาคติในแง่ลบต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มพระตุ๊ด-เณรแต๋วอยู่อย่างต่อเนื่อง จนทำให้เขาเหล่านั้นถูกมองอย่างเหมารวมในแง่ลบมาโดยตลอด ทั้งที่ความผิดหรือความเลวร้ายที่เกิดขึ้นที่พบเจอในสื่อ ไม่ว่าจะเป็นข่าวสารหรือสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ควรถูกเหมารวมด้วยอคติทางเพศ สิ่งเหล่านั้นควรถูกมองในแง่ของตัวบุคคลเป็นสำคัญ ดังนั้นบทความชิ้นนี้จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่อยากจะเรียกร้องความยุติธรรมให้กับพระตุ๊ด-เณรแต๋ว ที่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคม ชาวบ้าน และชุมชน ถึงแม้ว่าการยอมรับนั้นจะยังเป็นการยอมรับในแง่ของผลงานหรือความดีก็ตาม แต่อย่างน้อยบทความนี้ก็หวังเพื่อให้คนในสังคมได้ฉุกคิดหรือเลิกมองเขาเหล่านั้นเป็นเพียงตัวร้ายในทางพุทธศาสนา และเปิดใจที่จะยอมรับเขาในฐานะ มนุษย์ คนหนึ่งมีสิทธิเสรีภาพในทางศาสนาได้อย่างเท่าเทียม

 

อ้างอิง:

  • บุคคลที่ห้ามบวชเป็นพระภิกษุ, สำนักเรียนธรรมศึกษา วัดหลวงปรีชากูล, sites.google.com/site/watluangpreechakul/prohibit-to-monk. (31/5/2561)
  • ฝ่าอคติสู่ความหลากหลายทางเพศ, THE STANDARD, thestandard.co/les-is-more. (31/5/2561).
  • สังคมไทยยอมรับ LGBT แบบมีเงื่อนไข กำแพงปิดกั้นความหลากหลายทางเพศ ในมุมมองของครูเคท, The Matter, thematter.co/pulse/lgbt-inequality-with-krukath/48901, (31/5/2561).
  • เสียงจากกลุ่มหลากเพศ ‘เมื่อสื่อเป็นผู้ตีตรา-สร้างอคติ’, Post Today, www.posttoday.com/politic/report/402619 (31/5/2561).
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X