สหพันธ์กาชาดระหว่างประเทศ (The International Federation of Red Cross: IFRC) รายงานว่า ผลกระทบจากปรากฏการณ์ซูด (Dzud) หรือภาวะอากาศหนาวสุดขั้วที่เกิดขึ้นในพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ของมองโกเลีย ซึ่งครั้งนี้รุนแรงที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษ ส่งผลให้มีสัตว์ตายไปแล้วกว่า 4.7 ล้านตัว
ภัยพิบัติอากาศหนาวที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบต่อชีวิตของชาวมองโกเลีย โดยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่ามีผู้เลี้ยงปศุสัตว์อย่างน้อย 2,250 ครอบครัว ที่สูญเสียปศุสัตว์ของตนไปมากกว่า 70% และอีกกว่า 7,000 ครอบครัว เริ่มเผชิญภาวะขาดแคลนอาหาร
ทั้งนี้ ประชาชนชาวมองโกเลียราว 3 แสนคน ประกอบอาชีพเลี้ยงปศุสัตว์ ทั้งวัว แพะ และม้า โดยเลี้ยงไว้เพื่อขายและเป็นอาหาร
ปรากฏการณ์ซูดส่งผลกระทบต่อพื้นที่ 3 ใน 4 ของประเทศมองโกเลีย โดยสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่กลุ่มผู้เลี้ยงปศุสัตว์ ตลอดจนทำให้การเดินทาง การค้า การเข้าถึงด้านสุขภาพและการศึกษาสำหรับชาวมองโกเลียจำนวนมากต้องหยุดชะงัก โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท เนื่องจากหิมะที่ตกหนักทำให้ถนนหนทางถูกตัดขาด ซึ่งคาดว่าสภาพอากาศหลังจากนี้จะยิ่งเลวร้ายลงเนื่องจากฤดูหนาวที่ยังไม่สิ้นสุด
ทางด้านรัฐบาลมองโกเลียได้ประกาศสภาวะเตรียมความพร้อมในระดับสูงเพื่อรับมือปรากฏการณ์ซูดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แต่ อเล็กซานเดอร์ มาเทอู (Alexander Matheou) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของ IFRC เตือนว่ายังไม่เพียงพอที่จะรับมือสภาพอากาศหนาวสุดขั้วที่รุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้
ทำไมปรากฏการณ์ซูดครั้งนี้ถึงเลวร้าย
ถึงแม้ว่าชาวมองโกเลียจะคุ้นเคยกับสภาพอากาศหนาว แต่ปรากฏการณ์ซูดนั้นเกิดขึ้นได้ทั้งในช่วงฤดูหนาวและในช่วงฤดูร้อนที่สภาพอากาศแห้งแล้ง ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่มผู้เลี้ยงปศุสัตว์จะปลูกหญ้าหรือพืชผลต่างๆ เพื่อเลี้ยงสัตว์ โดยอุณหภูมิอาจลดลงถึง -30 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่า
ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว พบว่าอุณหภูมิหลายพื้นที่ของมองโกเลียลดลงอย่างรุนแรงและเกิดหิมะตก ก่อนที่อุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างกะทันหันจนทำให้หิมะละลาย
แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดปรากฏการณ์ซูด ทำให้อากาศหนาวจัด อุณหภูมิลดลงต่ำกว่า -40 องศาเซลเซียส ในบางพื้นที่ ส่งผลให้ผู้เลี้ยงปศุสัตว์เตรียมหญ้าแห้งไม่ทัน และหิมะปกคลุมหนาจนทำให้สัตว์ต่างๆ ไม่มีหญ้ากิน
องค์การอนามัยโลกระบุว่า ปริมาณหิมะตกในมองโกเลียปีนี้สูงสุดในรอบ 49 ปี ครอบคลุม 90% ของประเทศ และมากสุดในเดือนมกราคม
รายงานของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) พบว่า มองโกเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.1 องศาเซลเซียส ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่ปรากฏการณ์ซูดนั้นเกิดขึ้นในมองโกเลียบ่อยขึ้น ทำให้ทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ไม่มีเวลาในการฟื้นตัวตามธรรมชาติ และผู้เลี้ยงปศุสัตว์ไม่สามารถเตรียมหญ้าได้ทัน
โดย IFRC คาดการณ์ว่าผลกระทบของวิกฤตสภาพอากาศหนาวในปีนี้จะมากกว่าช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ซูดในปี 2010 ซึ่งส่งผลให้มีปศุสัตว์ตายไปถึง 10.3 ล้านตัว
ภาพ: Paula Bronstein / Getty Images
อ้างอิง: