ผู้บริหารกระทรวงการคลังออกมาแถลงโดยระบุว่า อยากเห็นนโยบายการเงินไปในทิศทางเดียวกับนโยบายการคลัง หวังบรรลุเป้า GDP โต 5% ทุกปี วอนทุกฝ่ายเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพของกระทรวงการคลังในการรักษาวินัยการคลัง
วันนี้ (9 ตุลาคม) ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า อยากเห็นนโยบายการคลังกับนโยบายการเงินทำงานในลักษณะที่ไปในทิศทางเดียวกัน ย้ำไม่ได้ละเลยในเรื่องของเสถียรภาพ แต่เศรษฐกิจก็จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้น พร้อมขอให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพของกระทรวงการคลังในการรักษาวินัยทางการเงินการคลังต่างๆ
ลวรณกล่าวว่า “พูดถึงความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ วันนี้เศรษฐกิจไทยกำลังโตต่ำกว่าศักยภาพ โดยจะเห็นว่าการปรับลดอัตราการเติบโต GDP ออกมาอย่างต่อเนื่อง…ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ถือว่าไม่ผิด เพื่อให้เรากลับไปอยู่ในจุดที่ใกล้เคียงกับระดับศักยภาพ
“ผมเรียนหลายท่านไปว่า จริงๆ ก็เหมือนกับการขับรถยนต์ ถ้านโยบายการคลังเป็นเสมือนคันเร่ง นโยบายการเงินก็คงเป็นเบรก เราต้องมีจังหวะในการขับรถคันนี้ให้ไปด้วยกัน จะเร่งเมื่อไร จะเบรกเมื่อไร จะต้องเป็นจังหวะที่ผสมผสานกัน ถึงจะไปได้อย่างนุ่มนวลและปลอดภัย
“เราคงไม่อยากเห็นการเหยียบคันเร่งแล้วก็เหยียบเบรกไปพร้อมกัน อันนั้นคงไม่เกิดประโยชน์อะไรกับรถยนต์คันนี้ในประเทศนี้”
ลวรณย้ำอีกว่า ไม่ได้ละเลยในเรื่องของเสถียรภาพ แต่ต้องพูดความจริงกันว่า ถ้าวันนี้ GDP ต่ำกว่าศักยภาพจะเกิดปัญหา นอกจากนี้ GDP ที่โตหมายถึงความกินดีอยู่ดีของประชาชนที่โต คือภาษีที่โต คือเศรษฐกิจที่โต โดยรัฐบาลได้ประกาศชัดเจนว่าเป้าหมายคือ 5% ทุกปี
แถลงการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเมื่อสัปดาห์ก่อนมีการเผยแพร่แถลงการณ์ร่วม เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก ‘นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท’ ของนักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ระดับแถวหน้าของไทยจำนวน 99 คน นำโดย วิรไท สันติประภพ, ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ขณะที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า กับ ธปท. ไม่ได้มีปัญหาใดๆ และยังทำงานสอดประสานกัน นอกจากนี้ ท่านผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ก็อยู่ในคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ดิจิทัลชุดใหญ่ด้วย และส่งตัวแทนมาอยู่ในชั้นของอนุกรรมการฯ ด้วย
นอกจากนี้ ในการทำงานที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีปัญหาใด และท่านผู้ว่าฯ ได้มาพูดคุยในเรื่องของแนวนโยบายนี้แล้ว ก็มีข้อเสนอ ซึ่งเรารับฟังเพื่อดูว่าเราจะสามารถปรับแก้อย่างไรเพื่อให้เกิดความสมดุล