เมื่อวานนี้ (30 ตุลาคม) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 3/2567 เพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงข้อมูลประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อล่าสุดของ ธปท. รวมทั้งประเด็นสำคัญอย่างการดำเนินนโยบายการเงินโดยผู้บริหารระดับสูงของ ธปท.
ปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนของไทยในปี 2567 จะติดลบ 2.8% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ที่ขยายตัว 3.2% ซึ่งปัจจัยหลักที่ฉุดการลงทุนภาคเอกชนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยเฉพาะไตรมาส 2/67 เป็นการลงทุนในหมวดยานพาหนะหรืออุตสาหกรรมที่หดตัว ประกอบไปด้วยรถบรรทุก, รถกระบะ, รถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเชิงพาณิชย์ (แท็กซี่) โดยมีอุปสงค์ที่ปรับตัวลดลงตามการส่งออกและการผลิตของประเทศไทยที่ฟื้นตัวช้า รวมทั้งผลกระทบจากความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของภาครัฐ ที่มีผลกระทบทำให้ดีมานด์การลงทุนด้านยานพาหนะลดลงตามไปด้วย อีกทั้งสถาบันการเงินยังมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อจากความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้กู้ที่เพิ่มสูงขึ้น
“มองไปข้างหน้าอีก 3-4 ไตรมาส การลงทุนในหมวดยานพาหนะน่าจะยังหดตัวอยู่ ซึ่งเป็นไปตามภาวะการเงินที่ยังตึงตัวอยู่ใน Sector ยานยนต์ที่มีหลายปัจจัยกระทบ”
ซึ่งหากดูข้อมูลการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ยังขยายตัวเป็นบวกได้ โดยการลงทุนที่ลดลงในไตรมาส 2/67 มีส่วนทำให้การลงทุนภาคเอกชนทั้งปีนี้ติดลบ
อย่างไรก็ดี ประเมินว่าการลงทุนภาคเอกชนในปี 2568 จะสามารถกลับมาขยายตัวได้ในระดับ 2.9% โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการผลิตและการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มทยอยปรับดีขึ้น รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่กลับมาปกติ ไม่ได้ล่าช้าเหมือนในปีที่ผ่านมา
อีกทั้งยังมีโอกาสเห็นการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ จากข้อมูลมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่มีหลายอุตสาหกรรมเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งโดยปกติสัดส่วนการลงทุนจริงจะเกิดขึ้นประมาณ 50% ของสัดส่วนที่ส่งเสริมในช่วง 3-4 ไตรมาสถัดไปหลังจากออกบัตรส่งเสริมการลงทุน อีกทั้งสัดส่วนการลงทุนจะเกิดขึ้นประมาณ 90% ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่มาช่วยสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนในปี 2568 ให้กลับมาเติบโตได้
นอกจากนี้จะมีการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ซึ่งบางส่วนมีการเลื่อนการลงทุนไปในปีหน้า รวมถึงการลงทุนก่อสร้างภาคนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ จะยังขยายตัวได้ดี ประกอบกับมีฐานตัวเลขที่ต่ำจากการลงทุนภาคเอกชนปีนี้ที่ติดลบ
“ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ใกล้เคียงตามที่ประเมินไว้ โดยความเสี่ยงของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามองว่าจะสมดุล ซึ่งปัจจัยเสี่ยงด้านสูงมาจากผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายภาครัฐที่อาจจะมากกว่าที่คาดไว้ ส่วนความเสี่ยงในด้านต่ำคืออุปสงค์ในประเทศกับต่างประเทศที่อาจชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด จากความเสี่ยงของผลกระทบการส่งออก นโยบายการค้า และการฟื้นตัวของรายได้ที่แตกต่างกันในประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง แต่โดยรวมความเสี่ยงด้านสูงยังใกล้เคียงกับความเสี่ยงด้านต่ำ”
ธปท. จัดงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 3/2567
ภาพรวมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเป็นไปตามคาด
ด้าน สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า จากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา มุมมองต่อภาพรวมเศรษฐกิจกับเงินเฟ้อยังเป็นไปตามที่เคยคาดไว้ในการประชุมครั้งก่อนหน้า โดยมองไปในระยะข้างหน้าว่าภาพรวมของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทยในระยะกลางจะเริ่มกลับมาเติบโตได้ใกล้เคียงกับระดับศักยภาพ และมีแนวโน้มที่จะเข้าศักยภาพในระยะยาวเพิ่มมากขึ้นในอนาคต แต่อาจเห็นแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วนบ้าง โดยคาดว่า GDP ของไทยในปีนี้จะขยายตัว 2.7% และในปี 2568 ขยายตัว 2.9%
สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. ให้ข้อมูลในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 3/2567
อย่างไรก็ดี มีประเด็นเปลี่ยนแปลงไปจากการประชุมครั้งก่อนของ กนง. คือความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระบบการเงินที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น รวมถึงภาพรวมของสินเชื่อที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง
ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินที่เป็นกลางและสอดคล้องกับทั้ง 3 เป้าหมายของ กนง. คือเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน ในการประชุมของ กนง. รอบที่ผ่านมาจึงมีการปรับลดดอกเบี้ย 0.25% สู่ 2.25%
ขณะที่หากมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 การเติบโตจะมีความสมดุลมากขึ้น หลังจากเริ่มเห็นการส่งออกมีการทยอยฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนการบริโภคภาคเอกชนเริ่มแผ่วลงต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ แต่ยังเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญของเศรษฐกิจ ด้านภาคการท่องเที่ยวเริ่มมีแนวโน้มอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวที่ชะลอลง แต่ยังเห็นการปรับตัวที่เพิ่มขึ้นอยู่
ธปท.-คลัง เห็นพ้องกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% เหมาะสมกับไทย
ปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 3/2567 ว่า จากการหารือร่วมกันในประเด็นกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2568 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา ระหว่าง ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. กับ พิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่างมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% ในปัจจุบันเป็นระดับที่เหมาะสม และมีเป้าหมายตรงกันที่จะให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามศักยภาพและทำให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น
โดยกระบวนการกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อร่วมกันของกระทรวงการคลังและ ธปท. นั้นยังคงเดินไปตามกระบวนการปกติที่ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อกำหนดเป็นเป้าหมายนโยบายการเงินในปี 2568 ต่อไป
ปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. ให้ข้อมูลในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 3/2567
“กรอบเงินเฟ้อใหญ่ที่ 1-3% เป็นแนวทางต่อไปที่เห็นด้วยร่วมกัน เพราะไม่ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.5%, 2% หรือ 1.5% ก็ยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ซึ่งเงินเฟ้อมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดี เศรษฐกิจขยายตัวไปได้ตามศักยภาพ” ปิติกล่าว
สำหรับการดำเนินการเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายร่วมกันนั้น หน้าที่ของ กนง. คือการดูแลภาวะเศรษฐกิจการเงินให้เหมาะสม และเอื้ออำนวยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ โดยการใช้เครื่องมือแบบผสมผสานตามที่ได้ใช้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งอัตราดอกเบี้ยและการดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวนเกินไป อีกทั้งมาตรการทางการเงินในการแก้หนี้ ซึ่งเป็น Policy Package ที่สร้างสภาวะแวดล้อมและบรรยากาศทางการเงินที่เอื้ออำนวยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพ
นอกจากนี้กระทรวงการคลัง และ ธปท. ยังเห็นพ้องกันว่าไม่ต้องการเห็นภาวะเงินฝืดหรือเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุมาจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งในกรณีที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำที่ไม่พึงประสงค์นั้นยังไม่ได้เกิดขึ้นในปัจจุบันและยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้นและเงินเฟ้อสูงขึ้นอยู่ภายในกรอบ 1-3% ก็ควรจะเป็นได้ โดยเป็นธรรมชาติของเศรษฐกิจที่อุปสงค์เพิ่ม หากเงินเฟ้อเพิ่มเพราะเศรษฐกิจเติบโตขึ้นก็มองว่าไม่ได้เป็นปัญหา
ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังเสนอให้ ธปท. เพิ่มการดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนมารวมอยู่ในการพิจารณาการดำเนินนโยบายการเงินด้วยนั้น ประเด็นการดูแลค่าเงินบาทไม่ได้เป็นเป้าหมายสูงสุดของ ธปท. แต่เป็นเพียงตัวแปรหรือองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของภาวะการเงิน ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดในเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบเป้าหมาย โดย ธปท. ดูแลและมอนิเตอร์เรื่องค่าเงินอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องความผันผวนที่หากมีมากเกินไปจากปัจจัยพื้นฐาน