วันนี้ (13 มกราคม) สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ภายหลังที่กระทรวงแรงงานได้รับนโยบายจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้แนวทางลงช่วยเหลือเชิงรุกนายจ้างและลูกจ้าง โดยให้โรงพยาบาลในเครือข่ายสำนักงานประกันสังคม ได้บูรณาการทำงานเชิงรุกร่วมกับทางผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมทีมแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ กระทรวงมหาดไทย ที่เข้าไปตรวจสถานประกอบการเพื่อตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ให้ผู้ใช้แรงงานในรูปแบบทางเดินหายใจ (PCR) ที่จังหวัดสมุทรสาครไปเบื้องต้นแล้ว
ล่าสุด กระทรวงแรงงานจะทำงานตรวจเชิงรุกต่อไปใน 28 จังหวัด ที่มีคำสั่งควบคุมสูงสุดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ต่อไป โดยขณะนี้มีหลายโรงงาน หลายสถานประกอบการ ได้ยื่นเข้ามาจำนวนมาก โดยรอพิจารณาคำขอจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ สถานประกอบการที่ผ่านการอนุมัติ จะสามารถตรวจคัดกรองโควิด-19 ได้ฟรี ซึ่งสำนักงานประกันสังคมในสังกัดกระทรวงแรงงานจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ตามนโยบายรัฐบาลและจากการกำชับของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลนโยบายของกระทรวงแรงงาน ได้ให้แนวทางการทำงาน ต้องทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อให้การช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้าง ให้ภาคการผลิตเดินต่อ และด้านสุขภาพอนามัยของลูกจ้าง ให้ปลอดภัยจากโควิด-19
สุชาติกล่าวต่อว่า สำหรับผู้ประกอบการใน 28 จังหวัดที่จะเข้ารับการตรวจนั้น จะต้องผ่านเกณฑ์พิจารณาต่างๆ โดยประการแรก ต้องยื่นความประสงค์ขอเข้าร่วมตรวจคัดกรองจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด ประกันสังคมจังหวัด ภายใต้การอำนวยการของผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้เห็นชอบขั้นตอนสุดท้าย
โดยเงื่อนไขหลักๆ สถานการประกอบการจะต้องมีสถานกักกันในโรงงานที่มีความพร้อม Factory Quarantine (FQ) ในกรณีตรวจไม่ผ่านก็ให้โรงงานไปปรับปรุงแก้ไขใหม่ และเมื่อผ่านการอนุมัติแล้ว โรงพยาบาลในเครือข่ายสำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการตรวจตามขั้นตอนการรักษาต่อไป
“กระทรวงแรงงานคาดหวังว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจเชิงรุกและป้องกันโควิด-19 โดยสถานประกอบการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรองโควิด-19 จากเดิมที่นายจ้างต้องเสียค่าใช้จ่ายเองในการตรวจคัดกรองลูกจ้าง และที่สำคัญนโยบายรัฐบาลนี้ยังเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างทั้งชาวไทยและต่างด้าว ไม่ต้องหยุดกิจการ ภาคการผลิต ลูกจ้างไม่ต้องหยุดงาน และการผลิตส่งออกเดินหน้าต่อไป เพื่อท่านจะมีเงินไปเลี้ยงชีพและดูแลครอบครัว อีกทั้งกระทรวงแรงงานถือว่าเป็นกองหนุน เปรียบเสมือนเป็นผู้ช่วยการทำงานทุกภาคส่วนของภาครัฐ อาทิ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ที่เราเข้าไปลุยตรวจถึงโรงงานนั้นๆ ถือว่าเป็นการดูแล และห่วงใยผู้ประกอบการและลูกจ้าง เพื่อให้ผ่านสถานการณ์เช่นนี้ไปด้วยกัน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องทำทุกมิติเพื่อชาติ บ้านเมือง พี่น้องประชาชน ต้องผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ไปด้วยกัน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแรงงาน กล่าว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์