วันนี้ (15 พฤศจิกายน) รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานเปิดเผยถึงนโยบายการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรือค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ตามนโยบายรัฐบาลว่า กระทรวงแรงงานพร้อมผลักดันการปรับขึ้นเป็น 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อเป็นหนึ่งในของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากขณะนี้ในขั้นตอนการดำเนินงานมีความชัดเจนแล้ว โดยเฉพาะการจัดตั้งคณะกรรมการค่าจ้างหรือบอร์ดไตรภาคีชุดใหม่
ทั้งนี้ ในการจัดตั้งคณะกรรมการค่าจ้างชุดใหม่เพื่อทดแทนชุดเดิมนั้น กระทรวงแรงงานได้ข้อสรุปว่าจะเสนอรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการฝ่ายรัฐ 2 คนที่ว่างอยู่ให้กับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ โดยในส่วนของกรรมการที่เป็นอดีตผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงแรงงานจะแก้ปัญหาด้วยการส่งกรรมการฝ่ายรัฐเป็นผู้แทนจากกระทรวงการคลังไปแทน
หากที่ประชุม ครม. เห็นชอบรายชื่อคณะกรรมการทั้ง 2 คนที่กระทรวงแรงงานเสนอแล้ว ในขั้นตอนต่อไปคณะกรรมการค่าจ้างจะเริ่มต้นนัดประชุมกันนัดแรกอย่างเร็วที่สุดคือในเดือนธันวาคมนี้ และจะเร่งสรุปรายละเอียดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดที่เสนอมา โดยตั้งเป้าหมายการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างหรือค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ภายในวันขึ้นปีใหม่ 2568 เป็นต้นไป
“ตอนนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรับทราบรายละเอียดทั้งหมดแล้ว และจะเสนอที่ประชุม ครม. ในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ เพื่อจะเร่งประชุมคณะกรรมการไตรภาคีภายในเดือนธันวาคม 2567 แต่คาดว่าการประชุมอาจยังไม่ได้ข้อสรุปภายในการประชุมครั้งแรก และอาจต้องประชุมกันอีกครั้งในเดือนเดียวกันเพื่อสรุปรายละเอียด หากเป็นไปตามเป้าหมายในช่วงใกล้ๆ สิ้นเดือนธันวาคมคงสรุปเสร็จ และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่จะมีผลได้ทันทีในวันที่ 1 มกราคม 2568”
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า ในโควตากรรมการบอร์ดไตรภาคี สัดส่วนกระทรวงการคลังนั้นจะส่งรองปลัดกระทรวงการคลังคือ อัครุตม์ สนธยานนท์ ส่วนอีกหนึ่งคนทางกระทรวงแรงงานแจ้งส่งว่าที่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) คนใหม่ไปเป็นกรรมการฝ่ายรัฐ เข้าไปทำงานร่วมกับกรรมการฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในการเสนอ ครม. ครั้งนี้เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมอบหมายให้ดูแลเรื่องดังกล่าวอย่างเข้มงวด เพื่อให้การดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่นั้น แม้จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 400 บาททั่วประเทศ แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับกลุ่ม SMEs รายเล็กๆ ซึ่งขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมอบหมายให้ช่วยดูแลผู้ประกอบการกลุ่มนี้ให้ปรับตัวได้ทัน โดยอาจให้เวลาปรับตัวก่อน 1 ปี