วันนี้ (5 มกราคม) พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวช่วงหนึ่งระหว่างแถลงสถานการณ์การติดเชื้อประจำวันว่า วันนี้มีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเพิ่มขึ้น 276 ราย รวมสะสม 2,338 ราย หรือคิดเป็น 20.92% เมื่อเทียบกับจากสายพันธุ์ทั้งหมด พร้อมย้ำว่าทุกเคสถูกส่งตัวเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ เมื่อจำแนกตามจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนมากสูงสุด 5 จังหวัดแรก ประกอบด้วย
- กรุงทพมหานคร พบเพิ่ม 91 ราย รวมสะสม 676 ราย
- กาฬสินธุ์ (ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม) รวมสะสม 233 ราย
- ชลบุรี พบเพิ่ม 42 ราย รวมสะสม 204 ราย
- ร้อยเอ็ด (ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม) 180 ราย
- ภูเก็ต (ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม) 175 ราย
ส่วนประเด็นที่มีการถกเถียงบนสื่อโซเชียลเกี่ยวกับเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนที่มีความสามารถแพร่กระจายง่าย แต่อาการไม่รุนแรง ควรปล่อยให้มีการติดเชื้อเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ดีกว่าการสร้างภูมิคุ้มกันจากการรับวัคซีนหรือไม่นั้น
พญ.สุมนียืนยันว่า การได้รับภูมิคุ้มกันจากวัคซีนดีกว่าภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อแน่นอน พร้อมให้เหตุผล 4 ข้อ ดังนี้
- โอไมครอนเป็นเชื้อที่มีความสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ง่าย ถ้าเราปล่อยให้มีการแพร่เชื้อเป็นวงกว้างในเวลาอันสั้น จะส่งผลให้ระบบสาธารณสุขในประเทศนั้นๆ จะมีการรองรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ และนำไปสู่ผลกระทบในภาพใหญ่
- ถึงแม้ว่าเราจะได้รับวัคซีนเข็ม 2 ไปแล้ว 60% แต่ยังมีประชาชนจำนวนหลักล้านที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว หากคนกลุ่มนี้ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงได้รับเชื้อโควิดอาจทำให้มีอาการหนักและเสี่ยงต่ออัตราการเสียชีวิตสูง
- การได้รับเชื้อโควิดอาจส่งผลเสียกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น ระบบทางเดินหายใจที่ผิดปกติ, ระบบการไหลเวียนเลือดที่ไม่เหมือนเดิม
- ถ้าปล่อยให้มีการแพร่กระจายของเชื้อเป็นวงกว้าง จะเปรียบเสมือนการส่งเสริมให้เชื้อโควิดมีศักยภาพในการขยายพันธุ์มากขึ้น และอาจจะมาทำอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนเพิ่มขึ้นในอนาคต
“ตอนนี้ตอบได้เลยว่า ถึงจะมีโอไมครอน (สายพันธุ์ที่ไม่รุนแรง) เข้ามาในประเทศไทยก็ตาม การได้รับวัคซีนเพิ่มภูมิคุ้มกันจะสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนคนไทย มากกว่ามีการปล่อยให้ติดเชื้อเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ” พญ.สุมนีกล่าว
สำหรับมาตรการในช่วงนี้ ศบค. ยังขอความร่วมมือจากประชาชนหลังเทศกาลปีใหม่ โดยเน้นการ Work from Home เป็นหลักในช่วงสัปดาห์แรกของการกลับเข้าทำงาน พร้อมสังเกตอาการป่วยของตนเอง และตรวจคัดกรองด้วย ATK อย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกัน 3 วัน หากพบว่าผลตรวจเป็นบวกให้โทรไปที่หมายเลข 1330 สปสช. ลงทะเบียนเพื่อรับการดูแลที่บ้าน Home Isolation หรือติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้าน
ส่วนผู้ประกอบการจัดให้มีมาตรการ Work from Home เฝ้าระวังอาการป่วยของพนักงาน และตรวจคัดกรองด้วย ATK ก่อนอนุมัติให้กลับเข้าทำงานตามโรงงานหรือสถานประกอบการต่างๆ หากพบผู้ติดเชื้อให้ส่งตัวรับการรักษาโดยด่วน ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงให้กักตัว 14 วัน และเน้นให้เปิดทำงานภายใต้การควบคุมกำหนดรูปแบบ Bubble & Seal