วันนี้ (9 กรกฎาคม) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การโควิด-19 (ศบค.) แถลงผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด พิจารณายกระดับมาตรการการแพร่ระบาดโควิด โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ
ขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายน โดยจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 13 กรกฎาคม
สำหรับการปรับระดับพื้นที่ ให้มีพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ได้แก่ กทม. นครปฐม นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสงขลา
ปรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด จากเดิม 5 จังหวัด เป็น 24 จังหวัด ปรับพื้นที่ควบคุม จากเดิม 9 จังหวัด เป็น 25 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด จาก 53 จังหวัด เหลือ 18 จังหวัด และไม่มีประกาศพื้นที่เฝ้าระวัง หรือพื้นที่สีเขียว
สำหรับมาตรการเข้มงวดที่จะบังคับใช้ในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด
***สำหรับ 6 จังหวัด กทม. และปริมณฑล ได้แก่
- ให้มีมาตรการทำงานที่บ้านให้มากที่สุด
- ระบบขนส่งสาธารณะเปิดให้บริการได้ถึงเวลา 21.00 น.
- ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ปิดเวลา 20.00-04.00 น.
- ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธนาคารและสถาบันทางการเงิน ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านอุปกรณ์สื่อสาร รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีนเปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.
- ร้านจำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม ห้ามบริโภคอาหารหรือสุราเครื่องดื่มภายในร้าน เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.
- ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค ได้แก่ ร้านนวดเพื่อสุขภาพ สปา สถานเสริมความงาม
- สวนสาธารณะสามารถเปิดให้บริการสำหรับการออกกำลังกายได้ถึงเวลา 20.00 น.
- ห้ามรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางสังคมที่ไม่ใช่การปฎิบัติหน้าที่ การประกอบอาชีพกิจกรรมทางศาสนา หรือกิจกรรมตามประเพณีที่มีการรวมตัวของบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
***กรณีต่อไปนี้นอกจาก 6 จังหวัดใน กทม. และปริมณฑล ยังบังคับใช้กับ 4 จังหวัดภาคใต้ด้วย คือ
- ห้ามเดินทางที่ไม่จำเป็น และห้ามออกนอกเคหสถานในเวลา 21.00-04.00 น. เว้นแต่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือได้รับอนุญาตเป็นรายกรณี
- ควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง ยังคงเป็นไปตามข้อกำหนดของ ศบค. ที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้
- โดยมาตรการทั้งหมดมีผลตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคมเป็นต้นไป
ขณะเดียวกันให้มีการตั้งด่านสกัดการเดินทางข้ามจังหวัดเข้มงวดตั้งแต่เวลา 06.00 น. วันที่ 10 กรกฎาคม เป็นต้นไป หากพบผู้ฝ่าฝืนให้บังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ. โรคติดต่อทันที