×

ศบค. แถลงปรับพื้นที่โซนสี ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่ม 2 เดือน ยกเลิก RT-PCR ก่อนเข้าประเทศ เริ่ม 1 เม.ย. นี้

โดย THE STANDARD TEAM
18.03.2022
  • LOADING...
ศบค.

วันนี้ (18 มีนาคม) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 5/2565 โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม

 

โดยเริ่มจากสถานการณ์เตียงผู้ป่วยในสถานพยาบาลทั่วประเทศ ในภาพรวมมีอัตราครองเตียง 100,512 เตียง (จากทั้งหมด 182,163 เตียง) หรือคิดเป็น 52.2% มีรายละเอียดแบ่งตามระดับเตียง ดังนี้

 

เตียงระดับ 1 (ป่วยน้อย) มีอัตราครองเตียง 92,104 เตียง (จากทั้งหมด 150,511 เตียง) หรือคิดเป็น 61.2%

 

เตียงระดับ 2.1 (ป่วยกลาง) มีอัตราครองเตียง 6,731 เตียง (จากทั้งหมด 24,139 เตียง) หรือคิดเป็น 27.9%

 

เตียงระดับ 2.2 (ป่วยหนัก) มีอัตราครองเตียง 1,008 เตียง (จากทั้งหมด 5,353 เตียง) หรือคิดเป็น 18.8%

 

เตียงระดับ 3 (ป่วยวิกฤต) มีอัตราครองเตียง 669 เตียง (จากทั้งหมด 2,741 เตียง) หรือคิดเป็น 31%

 

นอกจากนี้ที่ประชุม ศบค. ยังได้เห็นชอบปรับพื้นที่โซนสี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยกำหนดให้พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) ลดจาก 44 เหลือ 20 จังหวัด, พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) เพิ่มจาก 25 เป็น 47 จังหวัด และพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (สีฟ้า) เพิ่มจาก 8 เป็น 10 จังหวัด (โดยเพิ่มจังหวัดเพชรบุรีและเชียงใหม่เข้ามา) โดยจังหวัดอื่นสามารถดำเนินการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวบางแห่ง รวม 18 จังหวัด

 

ทั้งนี้ที่ประชุมยังคงมาตรการปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ และสถานประกอบการอื่นๆที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันทั่วประเทศ โดยศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) พิจารณาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขว่ายังไม่เห็นชอบว่าจะให้เปิดบริการได้ โดยขอให้สถานประกอบการปรับรูปแบบเป็นร้านอาหาร เพื่อให้สามารถเปิดบริการได้ผ่านระบบ COVID-FREE Setting พร้อมกับย้ำว่ายังไม่อนุญาตให้ดื่มสุราในพื้นที่สีส้ม เว้นแต่ในพื้นที่สีฟ้าที่อยู่ภายในจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวสามารถเปิดให้บริการได้ แต่อยู่ในกรอบเวลาไม่เกิน 23.00 น.

 

ส่วนแผนและมาตรการบริหารจัดการสถานการณ์โควิดเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น โดยกระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอเรื่องนี้เป็นแผนอย่างเป็นทางการต่อที่ประชุม ศบค. ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ยังอยู่ในช่วงที่ยังต้องต่อสู้กับยอดติดเชื้อรายใหม่ที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยหากในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน ประชาชนช่วยกันควบคุมป้องกันได้เป็นอย่างดี ระยะที่ 2 ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะเป็นระยะที่ทรงตัว และตัวเลขจะค่อยๆ ลดลงตามการคาดการณ์ เหลือหลักพันในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมจนกระทั่งถึงเดือนมิถุนายน 

 

ซึ่งหากสถานการณ์เป็นไปตามการคาดการณ์ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 จะเห็นตัวเลขที่จะกดลดลง พร้อมกับระบุว่า แผนนี้เป็นเพียงแผนชี้นำที่จะให้คนทั้งประเทศช่วยกันกดตัวเลขผู้ติดเชื้อให้มีระดับต่ำลงให้ได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองก็เห็นชอบในแผนดังกล่าว พร้อมกับย้ำว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแผน แต่ 1 กรกฎาคมนี้ สถานการณ์จะเป็นอย่างไร ต้องจับตารอดูอีกครั้ง ถ้าหากมีการปรับเปลี่ยนไปจากนี้ก็คงจะต้องปรับเปลี่ยนแผนตาม และประชาชนทุกคนจะเป็นผู้กำหนดแผนการชี้วัดนี้เอง

 

นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ ยังได้อธิบายถึงการปรับมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยบอกว่า ในวันที่ 1 เมษายน 2565 นักท่องเที่ยวจาก 3 กลุ่มหลักอย่าง Test & go, Sandbox และ Quarantine ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ ไม่ต้องตรวจ RT-PCR ก่อนมาไทย แต่ปรับให้ตรวจ RT-PCR ครั้งแรกเมื่อมาถึงไทย และตรวจอีกครั้งด้วยชุดตรวจ ATK ในวันที่ 5 นับจากการตรวจหาเชื้อโควิดครั้งแรก และลดเวลากักตัวเหลือ 5 วัน 

 

ส่วนมาตรการการป้องกันโรคโควิดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นพ.ทวีศิลป์ ยืนยันว่าในที่ประชุมเห็นชอบให้สามารถจัดได้ในรูปแบบตามประเพณีดั้งเดิม คือ การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ หรือสรงน้ำพระ ส่วนกิจกรรมสันทนาการต่างๆ เช่น งานแสดงคอนเสิร์ต, ดนตรี, งานอีเวนต์, งานเทศกาล หรือมหกรรมอื่นๆ ผู้จัดงานหรือเจ้าของกิจกรรมต้องลงทะเบียนบนระบบ TSC2+ และประเมินตนเองตามมาตรการ COVID-FREE Setting รวมถึงการขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด / กรุงเทพมหานคร เพราะกิจกรรมเหล่านี้จะมีการรวมตัวกันของกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก 

 

พร้อมมีข้อแนะนำการเตรียมตัวก่อนร่วมงาน โดยประชาชนทั่วไปที่อยากเข้าร่วมงานต้องประเมินตนเองก่อนว่ามีอาการหรือมีความเสี่ยงหรือไม่ ถ้ามีขอให้หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมงาน หรือพิจารณาการตรวจ ATK ก่อนเดินทาง หรือก่อนเริ่มงานใน 72 ชั่วโมง พร้อมกับสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ และงดรับประทานอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

ส่วนระหว่างการจัดงานสงกรานต์ อนุญาตให้เล่นน้ำและจัดกิจกรรมประเพณี เช่น รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ การละเล่น การแสดงวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ การแสดงดนตรี โดยต้องปฏิบัติการตามมาตรการ COVID-FREE Setting และมีการกำกับอย่างเคร่งครัด ห้ามปะแป้ง ปาร์ตี้โฟม จำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน

 

ขณะที่หลังจากกลับจากงานสงกรานต์ให้ประชาชนสังเกตอาการตนเอง 7 วัน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงและผู้ที่ไปพบปะกับผู้คนจำนวนมาก หากพบว่ามีอาการสงสัยติดเชื้อให้ตรวจ ATK และพิจารณามาตรการ Work from Home ให้เป็นไปตามความเหมาะสมของหน่วยงาน

 

ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้เคาะขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร เป็นครั้งที่ 17 ไปอีก 2 เดือน ซึ่งจะมีผลวันที่ 1 เมษายน – 31 พฤษภาคม 2565 เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค จึงขอฝากประชาชนในการร่วมมือกัน ภาครัฐดำเนินการมาตรการต่างๆ ภาคเอกชนร่วมมือกัน และดำเนินการตามข้อคิดเห็นร่วมกัน จะผ่านไปสู่โรคประจำถิ่นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จึงต้องขอความเข้าใจและการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันกับโรคนี้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising