วันนี้ (26 สิงหาคม) นพ.อุดม คชินทร รองประธานที่ปรึกษา ศบค. ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ THE STANDARD ถึงวิธีคิดในการควบคุมสถานการณ์การระบาดโควิดของ ศบค. และการติดสินใจคลายล็อกกิจกรรมบางส่วนหลัง 31 สิงหาคมนี้ว่า ปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ตัวเลขมันยังไม่ลง ต้องยอมรับว่าเราล็อกดาวน์ จริงๆ ใช้คำว่าล็อกดาวน์ก็ไม่ถูก เราเซมิ-ล็อกดาวน์ (Semi-lockdown) ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม จริงๆ เราทำค่อนข้างช้า ที่จริงตอนนั้นเราควรจะทำตั้งแต่ตอนช่วงสงกรานต์เดือนเมษายน แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างทำให้เราไม่ทำ พอปล่อยก็เหมือนให้มันเรื้อรัง การจะกดตัวเลขให้ต่ำลงมันต้องใช้เวลา ตนคิดว่าช่วงสักสัปดาห์หนึ่งตัวเลขจะอยู่ประมาณนี้ 1,8000-19,000 รายต่อวัน มันทรงอยู่แต่มันยังไม่ลง อัตราการตายก็ยัง 200-300 รายต่อวันอยู่
“ที่เราประกาศมาตรการไว้ถึงวันที่ 31 สิงหาคม นี่จะเป็นทางแยกที่เราต้องเลือก เพราะถ้าวันที่ 31 สิงหาคม เรายกเลิกมาตรการ มันจะพุ่งขึ้นไปอีกวันละ 40,000-50,000 รายต่อวันประมาณช่วงกลางเดือนตุลาคม แต่ผมเชื่อว่าเราไม่ผ่อนมาตรการทั้งหมด เราจะผ่อนเป็นกิจกรรม เช่น กิจกรรมร้านอาหาร ช้อปปิ้งมอลล์ การเดินทาง สนามกีฬา เราเปิดประมาณ 5-6 กิจกรรมที่จะเปิดให้ แต่เปิดแบบมีเงื่อนไข เพราะฉะนั้นเราก็เชื่อว่าตัวเลขคนติดเชื้อรายวันคือ 15,000-20,000 รายต่อวัน มันคงจะลงกว่านี้ยาก” นพ.อุดมกล่าว
เมื่อถามว่าหลังวันที่ 31 สิงหาคม เราน่าจะมีการคลายล็อกดาวน์บางส่วน หลายคนก็กังวลว่าการที่เราเริ่มคลายมันจะทำให้เรากลับไปสู่จุดเดิมหรือไม่
นพ.อุดมกล่าวว่า เรากังวลแน่นอน แต่เราคิดหลายอย่างเรื่องสุขภาพ ถ้าเราเข้มก็ต้องแลกด้วยเศรษฐกิจ แต่ถ้าเราคลายมากเอาเศรษฐกิจให้เดินได้เต็มที่ก็จะมีคนตายมาก เราก็รับไม่ได้ เราคิดตลอดว่าจะทำอย่างไรให้สมดุลระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจ ให้เศรษฐกิจมันเดินได้ให้คนยังพอมีพอกินไป เราก็ต้องกดตัวเลขลดลงให้ระบบสุขภาพมันพอรับได้ ถ้าเราจำกราฟได้ มันลดลง จะเห็นว่ามันจะขึ้นไปได้อีกในช่วงหลังกลางเดือนตุลาคม ซึ่งตนคิดว่าเป็นสิ่งที่เราเตรียมใจไว้อยู่แล้ว แต่ตนเชื่อว่าถ้าเราทุกคนช่วยกันจริงๆ มันอาจจะไม่ขึ้นไปสูงมากตามที่เราคาดการณ์ไว้ในกราฟ ปัจจัยอยู่ที่ตัวเราจริงๆ เราก็มองในแง่ดีว่าเรามาพบกันครึ่งทางให้เศรษฐกิจพอเดินได้ ให้ชีวิตเรามีความไม่อึดอัดมากนัก ขณะเดียวกันสุขภาพเราพอไหว
“อีกอันที่เป็นปัจจัยเข้ามาร่วมคือการฉีดวัคซีน ซึ่งถ้าเราฉีดได้เกิน 70% ของประชากรจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ จะทำให้ผู้ติดเชื้อลดลงแต่ไม่ใช่ศูนย์ แต่มันจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปเหมือนไข้หวัดปกติ ซึ่งเราก็หวังไว้อย่างนั้น และกว่าจะฉีดได้ครบ 70% ก็ต้องประมาณเดือนธันวาคม คือครบต้อง 2 เข็มนะ เหมือนตอนนี้เราต้องพยายามยันไว้ก่อนด้วยมาตรการต่างๆ ที่จะป้องกันตัวเอง และหวังว่าจากนี้อีก 3-4 เดือนถึงสิ้นปี พอวัคซีนมันฉีดขึ้นไปได้ครบ 2 เข็ม 70% แล้วมันก็จะมาบรรจบกัน พอขึ้นปีใหม่เราก็จะใช้ชีวิตแบบปกติใหม่ได้ คิดว่าต้องอยู่กับมันไปเรื่อยๆ” นพ.อุดมกล่าวในที่สุด