เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศ เรื่อง พายุ ‘โนรู’ โดยเมื่อเวลา 04.00 น. ของวันที่ 26 กันยายน 2565 พายุ ‘โนรู’ บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในวันที่ 28 กันยายน 2565 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง กับมีลมแรงในช่วงวันที่ 28 กันยายน – 1 ตุลาคม 2565 ซึ่งอาจทำให้บริเวณพื้นที่ดังกล่าวเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะในพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น
พล.อ. อนุพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้สั่งการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกจังหวัด เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์และผลกระทบจากพายุ ‘โนรู’ พร้อมทั้งกำชับให้ดำเนินการตามแนวทางแผนเผชิญเหตุอุทกภัยดังนี้
- ให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด ติดตามสถานการณ์พายุโนรู รวมทั้งประเมินสถานการณ์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ ได้แก่ ปริมาณฝน น้ำท่า การระบายน้ำจากเขื่อน และอ่างเก็บน้ำขนาดต่างๆ ในพื้นที่ที่อาจส่งผลต่อการเกิดสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่ม เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสนับสนุนการตัดสินใจของผู้อำนวยการในแต่ละระดับ พร้อมทั้งแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยทราบถึงสถานการณ์เป็นระยะ รวมถึงแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย และช่องทางในการติดต่อสื่อสารเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ
- กำชับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับ ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย โดยกำหนดพื้นที่ ภารกิจ และมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบ จัดกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เช่น เครื่องสูบน้ำ, เรือยนต์กู้ภัย, เรือท้องแบน, รถสูบส่งน้ำระยะไกล, รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย ฯลฯ เตรียมความพร้อมในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้พร้อมเผชิญเหตุและให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
- เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ ให้จัดชุดปฏิบัติการจากฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ มูลนิธิ อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เร่งเข้าคลี่คลายสถานการณ์ พร้อมทั้งดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านต่างๆ ตลอดจนจัดตั้งโรงครัวพระราชทานในการประกอบเลี้ยง การแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
- หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงในพื้นที่ ให้ผู้อำนวยการสั่งการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัย หรือศูนย์พักพิงที่จัดเตรียมไว้โดยทันที โดยให้ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัครประชาชนจิตอาสา เข้าดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบ
- สำหรับจังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยและเกิดขึ้นต่อเนื่อง ให้จัดตั้งศูนย์พักพิงและวางแผนบริหารจัดการ เพื่อรองรับการอพยพของประชาชนอย่างเป็นระบบ
สำหรับจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ตลอดจนพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ให้มอบหมายหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล เช่น บริเวณน้ำตก ถ้ำ กำหนดมาตรการในการแจ้งเตือน การปิดกั้นหรือห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่ สำหรับพื้นที่ติดทะเล ชายหาดต่างๆ ให้ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานของกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำในพื้นที่ เพื่อดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดในการนำเรือเข้าที่กำบัง และห้ามการเดินเรือช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเคร่งครัด หากพบว่ามีเรือขนาดเล็กอยู่ในพื้นที่นอกชายฝั่งที่อาจจะเป็นอันตราย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการนำเรือดังกล่าวกลับเข้าฝั่งเพื่อให้เกิดความปลอดภัย
ตลอดจนกำชับสถานประกอบการโรงแรมในพื้นที่ชายทะเล สื่อสารให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังและห้ามลงเล่นน้ำในช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเด็ดขาด ทั้งนี้ ให้ศูนย์บัญชาการเหตุจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ สรุปสถานการณ์และรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
พล.อ. อนุพงษ์กล่าวทิ้งท้ายว่า หากประชาชนประสบเหตุสาธารณภัย หรือต้องการความช่วยเหลือจากเหตุสาธารณภัยต่างๆ สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วนนิรภัย โทร. 1784 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง