วันนี้ (26 ธันวาคม) สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2566 เป็นช่วงเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ 2566 ซึ่งมีวันหยุดต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน สถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ และสถานที่ประกอบธุรกิจโรงแรมอาจมีการจัดงานเฉลิมฉลองหรือกิจกรรมพิเศษ ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวหรือประชาชนเข้าไปใช้บริการและร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ทำให้สถานที่ดังกล่าวอาจเกิดความไม่ปลอดภัยขึ้น เช่น เกิดการทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกาย หรือเกิดเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้มาใช้บริการ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม
“กระทรวงมหาดไทยไม่มีนโยบายหรือคำสั่งให้หน่วยงานราชการในสังกัดและสถานประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบงดการจัดงานรื่นเริงเนื่องในเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2566” สุทธิพงษ์กล่าวเน้นย้ำ
สุทธิพงษ์กล่าวว่า ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน นักท่องเที่ยว ในช่วงเทศกาลแห่งความสุข จึงได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด กำหนดมาตรการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลสวัสดิภาพของประชาชน โดยจัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วตรวจตราและเข้มงวดกวดขันสถานบริการ สถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ โรงแรม ให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องเวลาเปิด-ปิดสถานบริการ การห้ามมิให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่ากฎหมายกำหนดเข้าไปใช้บริการ ไม่ให้มีการนำอาวุธ ยาเสพติดเข้าไปในสถานประกอบการ ไม่ให้มีการมั่วสุมกระทำความผิดในโรงแรม การจัดทำทะเบียนผู้พัก ตลอดจนการทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ การค้าประเวณี การพนัน และการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบการกระทำความผิดให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งตรวจสอบเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยของอาคาร ระบบป้องกันอัคคีภัย และแจ้งให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงจำนวนผู้เข้าไปใช้บริการหรือร่วมกิจกรรมให้สัมพันธ์กับประเภทกิจการ การใช้อาคารไม่ให้แออัดหนาแน่นจนเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์เสียชีวิตจากการเบียดของคนจำนวนมาก (Crowd Crush) ดังที่เคยเกิดในต่างประเทศ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และมาตรการด้านสุขลักษณะป้องกันความเสี่ยงจากโรคโควิด
“ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมที่มุ่งเน้นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยจัดกิจกรรมในรูปแบบ ‘สุขสันต์ปีใหม่ นำวิถีไทย เน้นความปลอดภัย ห่างไกลอบายมุข’ เช่น การทำบุญตักบาตร การขอพรปีใหม่จากผู้อาวุโสในหมู่บ้าน/ชุมชน การแสดงหรือการละเล่นพื้นเมือง และสวมใส่ผ้าไทยภายใต้แนวคิด ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ เป็นต้น” สุทธิพงษ์กล่าว
สุทธิพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ให้ทุกจังหวัดรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้ให้พี่น้องประชาชนคำนึงถึงความปลอดภัยบนท้องถนน ทั้งเรื่องเมาไม่ขับ ง่วงไม่ขับ สวมหมวกนิรภัย รัดเข็มขัดนิรภัย ขับไม่โทร ไม่เล่นไลน์ เพื่อให้พี่น้องประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเดินทางสัญจรอย่างปลอดภัย คนเดินเท้า คนเดินถนนก็มีความปลอดภัย ก็จะทำให้เป็นการลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ และประชาสัมพันธ์สายด่วนศูนย์ให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ เช่น หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1669 แจ้งเหตุเพลิงไหม้ ดับเพลิง 199 หรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดผ่านสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 เป็นต้น และสามารถขอรับความช่วยเหลือ หรือขอรับบริการอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ได้ที่จุดให้บริการประชาชนทั้งถนนสายหลัก และถนนสายรองทั่วประเทศ
“กระทรวงมหาดไทยมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ซึ่งเป็นเทศกาลแห่งความสุขของพวกเราคนไทย รวมถึงนักท่องเที่ยว โดยชาวมหาดไทยทุกคน ทุกกลไก ทุกระดับ มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างสวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยตลอดช่วงเทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2565 ถึง 2 มกราคม 2566 เพื่อให้เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ต้อนรับศักราชใหม่ ศักราชแห่งความสุขที่ยั่งยืนของคนไทยทุกคน” สุทธิพงษ์กล่าวในช่วงท้าย