×

รมว.คลัง เล็งรีดเก็บ VAT จากธุรกิจขนาดเล็ก รายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี นักวิชาการจุฬาฯ ห่วง SME จงใจหยุดโตเลี่ยงภาษี

06.05.2025
  • LOADING...

รมว.คลัง ส่งสัญญาณเตรียมรีดเก็บ VAT ผู้ประกอบการรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี คาดโกยรายได้เข้ารัฐ 2 แสนล้านบาทต่อปี ลดการขาดดุลทางการคลัง ด้านนักวิชาการห่วงธุรกิจไทยจงใจหยุดโต เพื่อเลี่ยงจ่าย VAT แนะคำตอบอาจไม่ใช่แค่การเก็บ VAT จากธุรกิจเล็กในอัตราที่ต่ำ แต่อยู่ที่การลดต้นทุนและความซับซ้อนของระบบ เพื่อให้การเข้าระบบ VAT เป็นเรื่องที่ ‘คุ้ม’ และ ‘เป็นไปได้’ สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย

 

พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพิ่งส่งสัญญาณว่า เตรียมเพิ่มช่องทางจัดเก็บรายได้ใหม่ของรัฐบาล ผ่านการเก็บ VAT ผู้ประกอบการที่มีรายได้ ‘ต่ำกว่า’ 1.8 ล้านบาทต่อปี หลังรายได้รัฐบาลต่อ GDP ของไทยลดลงต่อเนื่อง เหลือ 13% ต่อ GDP ในปัจจุบันจาก เคยถึง 17% ต่อ GDP ในอดีต

 

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร ปัจจุบันระบุว่า ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่มีรายรับเกิน 1,800,000 บาทต่อปี ที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

 

โดยพิชัยยังระบุว่า ปัจจุบันนี้เด็กรุ่นใหม่ที่ทำธุรกิจใหม่ๆ มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี แต่มักจะยื่นแบบรายได้ของธุรกิจให้ต่ำกว่า 1 ล้าน 8 แสนบาทต่อปี เพื่อไม่ต้องเข้าเกณฑ์จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล

 

ดังนั้น จึงมีความคิดที่จะทำ VAT Category 2 เหมือนประเทศยุโรป ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ธุรกิจที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี แต่อาจมีรายได้ 1.5 ล้านบาท อาจจะเพิ่มเป็น VAT Category 2 เหมือนประเทศในยุโรป โดยอาจขอเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 1% ของรายได้ 1.5 ล้านบาท ซึ่งประเมินว่าจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 200,000 ล้านบาท

 

หากสามารถขยายฐานภาษีมูลค่าเพิ่มได้กว้างขึ้น นำคนเข้าระบบให้มากขึ้น จะทำให้รัฐบาลจัดทำงบประมาณขาดดุลต่ำลง ปัจจุบันขาดดุลอยู่ที่ 4.4% ของ GDP อาจเหลือแค่ 3.5% ของ GDP ทำให้รัฐบาลนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปลงทุนในโครงการที่เป็นประโยชน์ เช่น การบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น

 

 

นักวิชาการชี้ 3 ข้อสังเกตจากงานวิจัย ก่อนเก็บ VAT ธุรกิจรายย่อย

 

รศ. ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านช่องทาง Facebook โดยฝาก 3 ข้อสังเกตจากงานวิจัย ก่อนคลังเก็บ VAT ธุรกิจรายย่อย ได้แก่ 

 

1) พฤติกรรมการหลีกเลี่ยง 1.8 ล้าน และผลกระทบต่อการเติบโต

 

งานวิจัยของเราพบว่าธุรกิจไทยมี ‘พฤติกรรมกองตัว’ (bunching) อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับรายรับก่อนถึง 1.8 ล้านบาทเล็กน้อย  นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่สะท้อนการตั้งใจหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ระบบ VAT

 

ที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ งานวิจัยพบว่าธุรกิจจำนวนมากจงใจ ‘หยุดการเติบโต’ เมื่อรายได้เข้าใกล้ 1.8 ล้านบาท และพยายามรักษารายได้ให้อยู่ในระดับเดิมหลายปีติดต่อกัน ส่งผลให้ระบบภาษีกลายเป็น ‘ข้อจำกัดในการเติบโต’ แทนที่จะเป็นกลไกสนับสนุนธุรกิจ

 

 

2) ต้นทุนการปฏิบัติตามกฎ VAT สูงเกินรับไหวสำหรับธุรกิจเล็ก 

 

การเข้าระบบ VAT ไม่ได้แปลว่าแค่ ‘จ่ายภาษี’ แต่หมายถึงภาระการปฏิบัติตามกฎระเบียบจำนวนมาก ทั้งการออกใบกำกับภาษีให้ถูกต้อง ทำบัญชีให้ได้มาตรฐาน ยื่นแบบรายเดือน เตรียมเอกสารพร้อมตรวจสอบ

 

สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีฝ่ายบัญชีเป็นเรื่องเป็นราว นี่คือภาระที่ ‘เปลี่ยนเกม’ ไปเลย

 

ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยยังพบว่าหากธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมหรือพื้นที่ที่คู่แข่งจำนวนมากอยู่นอกระบบ (VAT informality สูง) การเสียภาษีกลายเป็นต้นทุนที่ทำให้แข่งขันไม่ได้ เพราะแข่งขันยากเมื่อต้องเก็บ VAT จากลูกค้า

 

3) กฎระเบียบ VAT แบบ ‘One Size Fits All’ เหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยหรือไม่  

 

คุณลักษณะสำคัญของระบบ VAT ไทยคือการใช้กฎเกณฑ์แบบเดียวกันกับทุกธุรกิจ ไม่ว่าจะมีรายได้ 2 ล้านหรือ 200 ล้านบาท ทุกธุรกิจต้องปฏิบัติตามกฎ VAT แบบเดียวกัน ซึ่งข้อดีคือ เราได้ระบบภาษีที่เรียบง่ายและชัดเจน

 

แต่ ‘ความเท่าเทียม’ แบบนี้อาจไม่เป็นธรรมกับธุรกิจเล็กที่ไม่มีทรัพยากรหรือบุคลากรเพียงพอในการจัดการภาระทางภาษีที่ซับซ้อน เปรียบเสมือนให้เด็กและผู้ใหญ่แบกกระเป๋าหนักเท่ากัน

 

หลายประเทศที่ต้องการขยายฐานภาษีไปที่ธุรกิจขนาดเล็ก มีการสร้างระบบ simplified VAT โดยเฉพาะ เช่น

 

  • ลดความถี่การยื่นแบบเป็นรายไตรมาสหรือรายปี (แทนรายเดือนแบบปัจจุบันของไทย)
  • ทำระบบเครดิตภาษีซื้อให้ง่ายขึ้น หรือใช้อัตราเหมา (Flat rate)
  • ลดความซับซ้อนของเอกสารที่ต้องจัดทำ

 

ทั้งหมดนี้ช่วยให้การเข้าระบบ ‘ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว’ สำหรับรายย่อย

 

มองภาพใหญ่ของระบบ VAT ไทย

 

VAT คือแหล่งรายได้หลักของรัฐ คิดเป็นราว 30% ของรายได้ภาษีทั้งหมดในปัจจุบัน แต่ก็กลายเป็น ‘เพดาน’ ที่ทำให้ธุรกิจเล็กจำนวนมาก ‘ไม่กล้าโต’ เพราะกลัวข้ามเส้น 1.8 ล้านบาท หากอยากให้ระบบภาษีมีทั้งประสิทธิภาพและความเป็นธรรม เราจำเป็นต้องแก้จุดนี้

 

การขยายฐานภาษีเป็นสิ่งจำเป็น แต่โจทย์ท้าทายคือ ทำอย่างไรให้การขยายฐานภาษี ‘ไม่บั่นทอนแรงจูงใจในการเติบโต’ และ ‘ไม่ผลักให้ธุรกิจหลบซ่อนมากขึ้น’

 

คำตอบอาจไม่ใช่แค่การเก็บ VAT จากธุรกิจเล็กในอัตราที่ต่ำ แต่อยู่ที่การลดต้นทุนและความซับซ้อนของระบบ เพื่อให้การเข้าระบบ VAT เป็นเรื่องที่ ‘คุ้ม’ และ ‘เป็นไปได้’ สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising