กระทรวงการคลังเผย ‘เงินหมื่นเฟส 1’ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ดันตัวชี้วัดเศรษฐกิจต่างๆ พุ่ง ย้ำผลสำรวจพบเงินกระจายไปที่จังหวัด ‘ยากจน’ กลุ่มตัวอย่างนำเงินไปใช้กับร้านเล็กและร้านในชุมชน
ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 หรือ ‘เงินหมื่นเฟส 1’ โดยระบุว่า จากการศึกษาสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) ซึ่งใช้วัดความเหลื่อมล้ำโดยกระทรวงการคลัง พบว่า โครงการดังกล่าวช่วยลดระดับดัชนี Gini ได้ 0.01 จุด หรือช่วยลดระดับความเหลื่อมล้ำลงได้ หากเปรียบกับกรณีที่ไม่มีโครงการนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘เงินหมื่นเฟสแรก’ คุ้มหรือไม่? KKP เปิด 3 เหตุผล ทำให้ ‘แจกเงิน’ ได้ผลน้อยกว่าคาด…
- คลังเผย ‘เงินหมื่น’ เฟส 1 มูลค่า 1.4 แสนล้าน กระตุ้น GDP ได้ 0.3% ตามคาด…
“การที่ดัชนี Gini ลดลงได้ 0.01 จุดดังกล่าว มักใช้เวลานานถึง 3 ปี อ้างอิงตามแนวโน้มการพัฒนาการเศรษฐกิจในอดีต กล่าวคือ โครงการนี้ร่นระยะเวลาลดความเหลื่อมล้ำประเทศเร็วขึ้น 3 ปี” ดร.เผ่าภูมิ กล่าว
ดร.เผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า หลังจากแจกเงินหมื่นไป ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 56.9 ในไตรมาสที่ 4 สูงขึ้นกว่าไตรมาสที่ 3 ที่ระดับ 56.5 ดัชนีความเชื่อมั่น MSMEs ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 53.0 ในไตรมาสที่ 4 จากระดับ 49.6 ในไตรมาสที่ 3 ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภูมิภาคปรับตัวดีขึ้นในหลายภูมิภาค การท่องเที่ยว การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (หักนำเข้าและหักเงินเฟ้อ) และรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้น โดยตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 4 โดยเฉพาะเดือนตุลาคมที่เงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจเต็มเดือน
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจาก KKP Research ของเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยบทวิเคราะห์ที่ระบุว่า การแจกเงินหมื่นแทบไม่ส่งถึงการบริโภค โดยจากข้อมูลการบริโภคในช่วงที่ผ่านมา พบว่า จำนวนเงินที่ถูกนำมาใช้เพื่อการบริโภคใหม่คิดเป็นไม่ถึง 10% ของเงินที่แจกไป สอดคล้องกับที่ KKP Research เคยประเมินไว้ว่า ตัวคูณทางเศรษฐกิจ (Multiplier Effect) จากโครงการนี้จะเกิดขึ้นในระดับต่ำมากเพียงประมาณ 0.1-0.3 เท่า
พบเงินกระจายไปที่จังหวัดยากจน-ทั่วถึงทุกพื้นที่
ดร.เผ่าภูมิ ระบุอีกว่า จากการประมวลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า จังหวัดที่มีสัดส่วนของผู้ได้รับเงินสูงคือจังหวัดยากจนที่มี GDP per capita ต่ำ โดยภูมิภาคที่รับเงินมากอยู่ในภาคเหนือ ภาคอีสาน และกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทำให้ภูมิภาคเหล่านี้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากที่สุด
นอกจากนี้ “เงินยังกระจายทั่วถึงทุกพื้นที่ครอบคลุมครบทุกตำบลทั่วประเทศไทย กล่าวคือ ไม่มีตำบลใดเลยที่ไม่ได้รับเงิน” ดร.เผ่าภูมิ กล่าว
เงินพุ่งสู่ร้านเล็ก ร้านในชุมชน ส่วนใหญ่ใช้เงินหมดใน 3 เดือน
ผลสำรวจพบอีกว่า กลุ่มตัวอย่าง 68% นำเงินไปใช้จ่ายในร้านค้าชุมชน ร้านขายของชำ ร้านหาบเร่แผงลอยทั่วไป ร้านค้าในตลาด ขณะที่ 30% นำไปใช้จ่ายในร้านสะดวกซื้อและ Modern Trade และที่เหลืออีก 2% ใช้จ่ายในร้านอื่นๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าการเกษตร และร้านออนไลน์
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า 82% จะใช้จ่ายเงินหมดภายใน 3 เดือน (21% ระบุว่า จะใช้หมดภายใน 1 เดือน อีก 61% ระบุว่า จะใช้หมดภายใน 1-3 เดือน)