อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เมื่อการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทยกระจายในวงกว้างและกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการและประชาชน (5 พฤษภาคม) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ ได้แก่
- มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท ผ่านการให้สินเชื่อของธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยจะกำหนดวงเงินสินเชื่อแก่ประชาชนรายละ 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.35% นาน 3 ปี ซึ่งจะปลอดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก และมีหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติ
- มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ทั้งนี้จะเปิดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายระยะเวลาพักชำระหนี้เงินต้นให้แก่ลูกหนี้ (ตามความสมัครใจ) ถึง 31 ธันวาคม 2564 โดยจะพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปหาน้อย เพื่อดูแลลูกหนี้ในแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกหนี้เป็นสำคัญ
นอกจากนี้กระทรวงการคลังขอความร่วมมือให้ผู้ให้บริการทางการเงินอื่นๆ เช่น Non-Bank เร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นหลัก อาจดูแลลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปน้อยเช่นกัน
ทั้งนี้คลังฯ จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที รวมถึงการออกมาตรการเพื่อดูแลและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยเมื่อสถานการณ์ต่างๆ ได้คลี่คลายลงในระยะต่อไป
ทั้งนี้ปัจจุบันมีมาตรการด้านการเงินที่ยังเปิดให้ประชาชนขอความช่วยเหลือ ได้แก่
- พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ซึ่งประกอบด้วยมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้
- โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
- มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย
- มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
- การปรับวิธีคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
- การแก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ