พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 โดยคาดว่า GDP จะขยายตัวได้ที่ 1.2% (มีช่วงคาดการณ์ที่ 0.9-1.4%) ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อน ณ เดือนตุลาคม ที่ 1% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมาฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้ จากปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การส่งออกสินค้าและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นและการเร่งกระจายวัคซีนที่มีความครอบคลุมมากขึ้น
โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 0.2% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 3.7% ขณะที่มูลค่าการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 19% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปัญหาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Disruption) ที่ทยอยคลี่คลายลง
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ในช่วง 4% ต่อปี (มีช่วงคาดการณ์ที่ 3.5-4.5%) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายในประเทศที่ขยายตัวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เริ่มมีผลกระทบในวงจำกัด
ทั้งนี้ คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้จะขยายตัวที่ 4.5% ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาขยายตัวได้หลังจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศผ่านระบบ Test & Go อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 7 ล้านคน ด้านการส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.6% ตามอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังมองว่าการดำเนินนโยบายของภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เนื่องจากภาครัฐจะมีการใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจวงเงิน 3.07 แสนล้านบาท รวมทั้งเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ในส่วนที่เหลือก็คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน
จากปัจจัยข้างต้นทำให้คาดว่าการบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ 1.2% และ 3.7% ในปีนี้ ตามลำดับ ทั้งนี้ แรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจ รวมทั้งการลงทุนในประเทศปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 5% ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.9% (มีช่วงคาดการณ์ที่ 1.4-2.4%) ยังอยู่ภายในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกันกำหนดที่ระดับ 1-3%
พรชัยระบุอีกว่า ปัจจัยที่กระทรวงการคลังมองว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในปีนี้ ได้แก่
- ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต
- ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก อาทิ การส่งสัญญาณปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ
- ตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความสามารถในการชำระหนี้สินของภาคครัวเรือนที่ยังคงมีความเปราะบาง
- ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Disruption) เช่น การขาดแคลนอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ที่อาจยืดเยื้อ
- ราคาพลังงานและน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังจะมีการติดตามและประเมินผลกระทบจากความเสี่ยงด้านต่างๆ อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินมาตรการทางการคลังและการเงินที่เหมาะสม เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP