กระทรวงการคลังหั่นประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 เหลือขยายตัว 3.6% จาก 3.8% เนื่องมาจากภาคการส่งออกซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ มีแนวโน้มที่จะหดตัว 0.5% ในปีนี้ พร้อมจับตาความเสี่ยงใหญ่ ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์
วันนี้ (25 เมษายน) พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.6% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.1% ถึง 4.1%) ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 3.8% เนื่องจากมีปัจจัยหลักมาจากการปรับประมาณการตัวเลขการส่งออกจากขยายตัว 0.4% เหลือ 0.5%
สำหรับปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยปีนี้ คือภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 29.5 ล้านคน ขยายตัวที่ 164.6% ต่อปี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียและกลุ่มสหภาพยุโรปที่เพิ่มขึ้น และคาดว่ามีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 1.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 255.9% ต่อปี ส่งผลให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
สอดคล้องกับด้านอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 4.1% ตามรายได้ภาคประชาชนที่ฟื้นตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงช่วยให้การบริโภคเพิ่มขึ้น
สำหรับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าขยายตัวที่ 2.3% จากความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มกลับมาดีขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ดี ผลของอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดและปัญหาสถาบันการเงินในประเทศส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงในช่วงต้นปี 2566 ทำให้คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจะหดตัวเล็กน้อยที่ -0.5%
นอกจากนี้การบริโภคภาครัฐคาดว่าหดตัวที่ -2.1% และการลงทุนภาครัฐขยายตัวที่ 2.6% ส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมา
ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.6% ปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% เนื่องจากราคาพลังงานโลกที่ลดลง ทำให้แรงกดดันด้านอุปทานจากต้นทุนพลังงานและราคาน้ำมันคลี่คลายลง
สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะกลับมาเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 0.8% ของ GDP
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่
- ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป และ
- ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงระหว่างประเทศและปัจจัยการผลิตต่างๆ เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง
- กูรูแนะกลยุทธ์นักลงทุนในปี 2023 ศึกษาตลาด อย่าหวั่นไหว และรู้ข้อจำกัดตนเอง
- สินทรัพย์ไหนรุ่ง/ร่วง? เปิด 5 คำทำนายจากผู้จัดการกองทุนต่างๆ สำหรับปี 2023
- โปรดระวังดอลลาร์ ‘กลับทิศ’ กระทบเศรษฐกิจโลก