×

ครม. อัดงบ 1.9 ล้านล้านบาท เยียวยาเศรษฐกิจดันหุ้นกระฉูด

โดย efinanceThai
08.04.2020
  • LOADING...
efinance

ครม. ไฟเขียว อัดฉีดเงินมหาศาล 1.9 ล้านล้านบาท ดูแลและเยียวยาเศรษฐกิจเฟส 3 จากโควิด-19 ทั้งการออก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ผ่าน พ.ร.ก. ธปท. 2 ฉบับ และเงินงบประมาณ เน้นขยายเวลาแจกเงิน 5,000 บาทต่อเดือน เป็น 6 เดือน ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ SMEs ดูแลสภาพคล่องตลาดการเงิน หนุน SET Index พุ่งทะลุ 1,200 จุด โบรกฯ มองแนวต้านถัดไป 1,300 จุด ชี้ยาแรงได้ผล แถมยังช่วย GDP ปีนี้ติดลบน้อยกว่าคาด

 

ครม. ไฟเขียวแผนฟื้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านบาท

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยวานนี้ (7 เมษายน) ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาโควิด-19 ระยะที่ 3 วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ผ่านการออก พ.ร.ก. 3 ฉบับ ประกอบด้วย

    

  • พ.ร.ก. ฉบับที่ 1 ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินวงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท แหล่งที่มาเป็นเงินสกุลเงินบาททั้งหมด หรือเป็นการกู้ภายในประเทศ กำหนดเวลาการกู้ต้องให้เสร็จภายใน 30 กันยายน 2564 หรือ 1 ปี 6 เดือน โดยจะทยอยกู้ตามวัตถุประสงค์ แบ่งเป็น 2 แผนงานที่จะดำเนินการคือ แผนงานด้านสาธารณสุข และแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 600,000 ล้านบาท ผ่านการให้เงิน 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะขยายเวลาจากเดิม 3 เดือน เป็น 6 เดือน  และแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท 

 

  • พ.ร.ก. ฉบับที่ 2 ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกซอฟต์โลน วงเงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อดูแลธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs โดยให้สินเชื่อใหม่ 500,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% สำหรับ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท และให้ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินของรัฐ พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนให้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท

 

  • พ.ร.ก. ฉบับที่ 3 ดูแลเสถียรภาพภาคการเงินวงเงิน 400,000 ล้านบาท โดยจัดตั้งกองทุนรวม Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund (BSF) และให้ ธปท. ซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว

    

และร่าง พ.ร.บ. โอนงบประมาณปี 2563 วงเงิน 80,000-100,000 ล้านบาท ไว้ที่งบกลาง โดยจะนำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. โดยเร็วต่อไป โดยทุกกระทรวงต้องกันงบที่ไม่จำเป็นมาไว้สำหรับแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19

    

พร้อมยอมรับว่า แผนชำระเงินกู้อาจต้องรอเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้ตามปกติ การจัดเก็บรายได้จึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

 

สั่งออมสินปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหนุนกลุ่มนอนแบงก์

ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอัตราดอกเบี้ย 2% ให้กลุ่มธุรกิจนอนแบงก์ วงเงินสินเชื่อ 80,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวไปช่วยเหลือลูกหนี้ต่อไป โดยวงเงิน 80,000 ล้านบาทจะมาจากวงเงินสินเชื่อซอฟต์โลนเดิม 150,000 ล้านบาทที่ออกไปก่อนหน้านี้

 

ธปท. รับลูกออก 4 มาตรการช่วยเหลือ

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า สำหรับ ธปท. มาตรการในครั้งนี้จะประกอบด้วย 4 ส่วนคือ

   

มาตรการที่ 1 คือ การเลื่อนกำหนดการชำระหนี้สำหรับธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยให้ SMEs มีสภาพคล่อง โดยธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (ธนาคาร) แต่ละแห่งไม่เกิน 100 ล้านบาท ได้รับสิทธิ์เป็นการทั่วไป ไม่ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน และในช่วงที่ผ่อนปรนนี้ไม่ถือว่าเสียประวัติข้อมูลเครดิต 

 

มาตรการที่ 2 คือ การสนับสนุนสินเชื่อซอฟต์โลนให้แก่ธุรกิจ SMEs วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษ 2% ต่อปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก โดย ธปท. จัดสรรสินเชื่อซอฟต์โลนอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปีให้ธนาคารวงเงินรวม 5 แสนล้านบาท เป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้ธนาคารนำไปให้สินเชื่อแก่ธุรกิจ SMEs ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศและมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท และมีสถานะผ่อนชำระปกติ หรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน (ยังไม่เป็น NPL) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มาตรการนี้ไม่ครอบคลุมถึงบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET และ MAI) โดยวงเงินที่ SMEs แต่ละรายสามารถขอกู้ได้จะไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้างของลูกหนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 สำหรับ SMEs ที่สนใจ สามารถขอสินเชื่อได้ที่ธนาคารที่ท่านเป็นลูกค้าและมีวงเงินสินเชื่ออยู่ 

 

มาตรการที่ 3 คือ มาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ธปท. และกระทรวงการคลังจึงเห็นควรจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) เพื่อเป็นแหล่งเงินสำรองชั่วคราว (Bridge Financing) สำหรับเข้าไปซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทที่มีคุณภาพดีที่ มีตราสารหนี้ครบกำหนดชำระในช่วงปี 2563-2564 วงเงินรวม 4 แสนล้านบาท

    

มาตรการที่ 4 คือ ลดเงินนำส่ง FIDF ของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (สถาบันการเงิน) เพื่อลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ของภาคธุรกิจและประชาชน โดย ธปท. ปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (Financial Institutions Development Fund: FIDF) จากเดิมอัตรา 0.46% เหลือ 0.23% ของฐานเงินฝาก เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินไปปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มเติมให้กับประชาชนและภาคธุรกิจในทันที  

 

ตลาดหุ้นไทยตอบรับพุ่งกระฉูดทะลุ 1,200 จุดทันที มองแนวต้านถัดไป 1,300 จุด

ดัชนีตลาดหลักทรัพ์แห่งประเทศไทย (SET Index) วานนี้พุ่งแรงทันที รับมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ ขึ้นมาปิดตลาดที่ 1,214.95 จุด เพิ่มขึ้นถึง 76.11 จุด หรือ +6.68% มูลค่าการซื้อขาย 98,936.25 ล้านบาท 

 

วิวัฒน์ เตชะพูลผล รองกรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ทางเทคนิค บล.ทิสโก้ เปิดเผยกับ ‘สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย’ ว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง เนื่องจากตอบรับประเด็นข่าว พ.ร.ก. เงินช่วยเหลือโควิด-19 เฟส 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท และแจกเงิน 5,000 บาทเป็น 6 เดือน ซึ่งภาพรวมมาตรการช่วยเหลือในวิกฤตดังกล่าวใกล้เคียงกับมาตรการในประเทศต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้หุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นไปทางเดียวกับหุ้นต่างประเทศเช่นกัน

    

“ตอนนี้ทั้งโลกก็ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งมาตรการของไทยที่เกิดขึ้นก็คล้ายๆ กับต่างประเทศ หุ้นบ้านเราบวก แต่ก็บวกเหมือนกับหุ้นทั่วโลก ทั้งโลกอาจจะลืมๆ GDP ไตรมาส 2/63 ไปก่อน ถึงแม้ว่าจะติดลบ ซึ่งอาจจะมากกว่า 10% แต่ทุกประเทศไปโฟกัสที่มาตรการกันก่อนเพื่ออุ้มเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนนี้ที่คาดว่าจะหนักสุด แม้จะผิดวินัยทางการเงินการคลังก็ตาม” วิวัฒน์กล่าว

    

ในระยะสั้นประเมินกรอบการเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยให้แนวรับ 1,180 จุด แนวต้าน 1,250 จุด และแนวต้านถัดไปที่ 1,300 จุด แนะนำเก็งกำไรหุ้นแบบเวียนรายตัวในกลุ่ม SET50 เพราะเป็นหุ้นพื้นฐานดี มีสภาพคล่อง ซึ่งในช่วงนี้แนะนำหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์และกลุ่มรับเหมา เนื่องจากราคาหุ้นยังปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากเมื่อเทียบกับช่วงที่ปรับตัวลดลงไปก่อนหน้านี้  

 

โบรกฯ ชี้ยาแรงได้ผล หนุนเศรษฐกิจลบน้อยกว่าคาด

บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า GDP ปีนี้คาดจะติดลบอยู่หากอ้างอิงประมาณการณ์ของ ธปท. เศรษฐกิจไทย ปี 2563 หมายความขนาด GDP จะลดลงราว 5.79 แสนล้านบาท คิดจาก Real GDP ปี 2562 ที่อยู่ที่ 10.93 ล้านล้านบาท โดยรวม 2 เม็ดเงินรวมเข้าระบบราว 1.9 ล้านล้านบาท ราว 10% ของ GDP ไทย คาดว่าจะมีส่วนทำให้ GDP Growth ไทยปี 2563 ติดลบน้อยลง และถือเป็นปัจจยหนุนตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น

    

แรงหนุนทั้งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบจัดเต็มของแต่ละประเทศ เช่น สหรัฐฯ และญี่ปุ่นอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบกว่า 10% ของ GDP และ 20% ของ GDP ตามลำดับ บวกกับการคาดหวังว่าการล็อกดาวน์จะช่วยให้การระบาดของโรคคลี่คลายได้เร็วขึ้น หนุนให้ตลาดหุ้นที่มีการประกาศล็อกดาวน์ปรับตัวขึ้นตั้งแต่วันประกาศถึงปัจจุบันเฉลี่ยสูงถึง 6.23% (ปรับตัวเพิ่มขึ้น 20 ใน 25 ประเทศ)

    

สภาวะดังกล่าวตรงตามกลยุทธ์การลงทุนในเดือนเมษายน แนะนําสะสมหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่งที่ปรับฐานลงมาแรงในช่วงที่เกิดโควิด-19 แต่เวลาฟื้นมีโอกาสฟื้นได้แรงกว่าตลาดฯ

 

แนะหุ้นเด้งเป็นจังหวะขาย ระยะยาวอาจส่งผลกระทบ-งบ บจ. โค้งแรกไม่สวย

ด้าน บล.ทิสโก้ ระบุ เงินกู้ที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบในระยะยาว ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกเช่นกัน เช่น ปัญหาหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง, ขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก แต่ปัจจุบันแต่ละประเทศให้ความสำคัญกับภาพรวมเศรษฐกิจในปัจจุบันก่อน

  

วิจิตร อารยะพิศิษฐ นักวิเคราะห์กลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แม้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นจนเกินกรอบแนวต้านแรกที่ระดับ 1,200 จุด แต่เชื่อว่าต่อจากนี้ไปยังคงมีปัจจัยที่จะเข้ามากดดัน จากการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1/63 ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มที่ลดลง จะทำให้นักวิเคราะห์ทยอยปรับลดประมาณการณ์ ทั้งนี้เชื่อว่าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดมีระยะยาวออกไปอีก อาจจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในช่วงไตรมาส 2/63 ต่อเนื่องด้วย เบื้องต้นประเมินแนวรับไว้ที่ 1,110 จุด และ 1,200 จุด โดยมองมองแนวต้านไว้ที่ 1,238 และ 1,250 จุด

    

ทั้งนี้แนะนำนักลงทุนที่ชอบปัจจัยพื้นฐานแนะนำให้ถือเงินสดเพื่อรอการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน จากนั้นจึงสามารถเข้าไปเก็บหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และสร้างกระแสเงินสด ยังคงแนะนำเลือกหุ้นในกลุ่มบริหารสินทรัพย์หรือหนี้สิน เช่น BAM และ JMT ขณะที่กลุ่มอุปโภคบริโภคแนะนำ CPF

    

ด้าน กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์โนมูระ พัฒนสิน จำกัด มองว่า การที่ตลาดหุ้นรีบาวน์ในครั้งนี้นักลงทุนควรหาจังหวะขายหุ้นออกมาและถือเงินสดเพื่อรอดูจังหวะของภาวะตลาดอีกครั้ง หลังจากการประกาศงบไตรมาส 1/63 หรือเลือกลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ตลาดตราสารหนี้ระยะยาว สำหรับนักลงทุนทางเทคนิค วางกรอบแนวต้านการรีบาวน์ในรอบนี้ที่ 1,238 จุด และหากหลุดแนวรับที่ 1,200 จุด แนะนำให้ปรับปรับพอร์ตการลงทุน โดยมีหุ้นแนะนำเป็นกลุ่มโรงพยาบาล ได้แก่ CHG, BDMS และ BH

 

เรียบเรียง: ประน้อม บุญร่วม   

ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising