×

โมดีชนะแต่ไม่แลนด์สไลด์ ทำไมผลเลือกตั้งผิดคาด สะท้อนอะไรในการเมืองอินเดีย

05.06.2024
  • LOADING...

การเลือกตั้งครั้งใหญ่สุดในโลกที่อินเดียซึ่งใช้เวลานานกว่า 6 สัปดาห์ ปรากฏผู้ชนะที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วหลังผลนับคะแนนตอนนี้ที่เสร็จสิ้นเกินกว่า 99% ยังเป็นพรรคภารติยะชนตะ (BJP) ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ที่เอาชนะไปได้ ซึ่งจะส่งผลให้โมดีได้ครองเก้าอี้ผู้นำประเทศต่อเป็นสมัยที่ 3

 

อย่างไรก็ตาม ผลเลือกตั้งที่ออกมาอย่างไม่เป็นทางการก็สร้างความประหลาดใจไม่น้อย เมื่อพรรค BJP ที่ถูกคาดหมายว่าจะคว้าชัยชนะแบบ ‘แลนด์สไลด์’ และครองเสียงข้างมากใน ‘โลกสภา (Lok Sabha)’ หรือสภาผู้แทนราษฎรของอินเดีย ด้วยจำนวน สส. เกินกึ่งหนึ่ง จากทั้งหมด 543 ที่นั่ง กลับพ่ายแพ้ในหลายพื้นที่ ทำให้ได้ สส. เพียงประมาณ 240 ที่นั่ง ซึ่งน้อยลงกว่า 60 ที่นั่ง เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งปี 2019 ที่พรรค BJP ได้ สส. ไปถึง 303 ที่นั่ง

 

ขณะที่ขั้วฝ่ายค้านหลักอย่างแนวร่วมเพื่อการพัฒนาแห่งชาติอินเดีย (Indian National Developmental Inclusive Alliance: INDIA) ที่นำโดยพรรคคองเกรส (Congress Party) สามารถคว้า สส. ไปได้ 222 ที่นั่ง

 

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้พรรค BJP ต้องจับมือกับพรรคพันธมิตรในกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Alliance: NDA) เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม แต่ทิศทางการเมืองอินเดียยังคงไม่เกิดการสลับขั้ว โดยนักวิเคราะห์มองว่าการที่ BJP ‘พลาดเป้าความสำเร็จ’ ไปแบบพลิกความคาดหมายนั้นมีสาเหตุจากหลายปัจจัย

 

ประชาชนให้บทเรียน

 

ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งติดตามการเมืองอินเดียอย่างใกล้ชิด ให้ความเห็นต่อผลการเลือกตั้งที่ออกมาว่าเป็นเหมือนการ ‘ให้บทเรียนของประชาชน’ ผ่านการเลือกตั้ง

 

โดยแม้พรรค BJP จะชนะ แต่กลับให้ความรู้สึกเหมือนแพ้ เนื่องจากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในขณะที่คู่แข่งฝ่ายค้านอย่างพรรคคองเกรสนั้นแม้จะแพ้ แต่ก็ให้ความรู้สึกเหมือนชนะ

 

ผศ.ดร.มาโนชญ์ กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมาสะท้อนชัดเจนว่าประชาชนอินเดียนั้นต้องการการเมืองแบบที่สร้างสมดุลระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาล และประชาชนจำนวนมากอาจจะไม่ต้องการการเมืองแบบ BJP ที่นำมาซึ่งการแบ่งแยกในประเทศมากขึ้นจากการปลุกกระแสชาตินิยม

 

กระแสชาตินิยมไม่แรงพอ

 

อินเดียนั้นเป็นประเทศที่มีประชาชนยึดถือความเป็นชาตินิยมในระดับสูง โดยมีการสนับสนุนความเป็นชาตินิยมใน 2 รูปแบบที่สำคัญ ได้แก่

 

  1. ชาตินิยมแบบอิงศาสนา เช่น ชาตินิยมฮินดู ที่เป็นแนวนโยบายของพรรค BJP และโมดี
  2. ชาตินิยมแบบรัฐโลกวิสัย (Secularism) ที่แยกเรื่องศาสนาออกจากการเมือง

 

โดยที่ผ่านมาประชาชนอินเดียจะมีความรู้สึกสนับสนุนความเป็นชาตินิยมร่วมกันมากที่สุดก็คือตอนที่มีปัญหาขัดแย้งกับปากีสถาน

 

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2019 ที่อินเดียและปากีสถานมีปัญหาตึงเครียด โดยประเด็นนี้เป็นชนวนสำคัญในการจุดกระแสชาตินิยมและทำให้พรรค BJP ได้คะแนนเสียงถล่มทลาย โดยได้ สส. ถึง 303 ที่นั่ง ครองเสียงข้างมากในสภาแบบพรรคเดียว

 

แต่สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ผศ.ดร.มาโนชญ์ มองว่า การที่ไม่มีเหตุความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน ทำให้กระแสชาตินิยมไม่แรงพอที่จะช่วยฉุดคะแนนเสียงให้แก่พรรค BJP ในขณะที่คนอินเดียจำนวนมากเริ่มปฏิเสธการผลักดันกระแสชาตินิยมที่สร้างความแบ่งแยก เช่นชาตินิยมแบบอิงศาสนา

 

“คนอินเดียเขาก็เห็นแล้วว่าถ้าให้คะแนนเสียงกับ BJP มาก มันอาจจะนำประเทศไปสู่ความเป็นชาตินิยมที่อิงอยู่กับศาสนา ซึ่งจะทำให้ประเทศมีการแบ่งแยกภายในจากนโยบายของโมดี” เขากล่าว

 

ที่ผ่านมาโมดีถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลากหลายวาทกรรมในการหาเสียงเลือกตั้งที่ถูกมองว่าต่อต้านศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นศาสนาที่มีประชากรอินเดียนับถือมากเป็นอันดับ 2 กว่า 14% หรือราว 220 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศกว่า 1.4 พันล้านคน

 

โดยในการหาเสียงเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา เขากล่าวว่าพรรคคองเกรสนั้นต้องการแจกจ่ายความมั่งคั่งให้กับ ‘ผู้แทรกซึม’ และ ‘ผู้ที่มีลูกมากๆ’ ซึ่งถูกมองว่าเป็นคำพูดที่สื่อถึงชาวมุสลิมในแง่ลบ

 

ในอีกการหาเสียง โมดีเตือนผู้หญิงที่ร่วมฟังการปราศรัยว่า พรรคฝ่ายค้านจะยึดทองคำและนำไปแจกจ่ายให้กับชาวมุสลิม โดยเขายังกล่าวหาพรรคคองเกรสว่าผลักดันแคมเปญ Vote Jihad หรือการลงคะแนนของญิฮาด และเรียกร้องให้ชุมชนมุสลิมบางแห่งต่อต้านเขา

 

นอกจากนั้นโมดีและสมาชิก BJP ยังได้ทำพิธีเปิดวัดพระราม ในเมืองอโยธยา รัฐอุตตรประเทศ ซึ่งเป็นเทวสถานฮินดูที่สร้างบนพื้นที่ขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิมมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16

 

โดย ผศ.ดร.มาโนชญ์ ชี้ว่า นี่เป็นความเคลื่อนไหวที่หวังปลุกกระแสชาตินิยมฮินดู แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จและพรรค BJP ยังเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในพื้นที่นี้

 

“นั่นหมายความว่ากระแสชาตินิยมที่โมดีต้องการจะปลุกเนี่ยไม่ได้ตอบโจทย์ของคนอินเดีย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องการจ้างงาน และเรื่องเศรษฐกิจ มากกว่า”

 

ฝ่ายค้านไม่ตัดคะแนนกันเอง

 

อีกส่วนหนึ่งที่น่าจับตามองคือการเดินเกมของแนวร่วมฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคคองเกรส ซึ่งมีการเตรียมตัวมาค่อนข้างดีและจับมือกันอย่างหนาแน่น

 

ผศ.ดร.มาโนชญ์ กล่าวว่า การวางยุทธศาสตร์ของพรรคฝ่ายค้าน ทั้งการไม่ตัดคะแนนกันเอง โดยไม่ส่งผู้สมัครลงในท้องถิ่นที่มีพรรคพันธมิตรอยู่ ซึ่งส่งผลให้แนวร่วมฝ่ายค้านสามารถกวาดที่นั่งได้มากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์

 

ขณะที่แคมเปญหาเสียงของฝ่ายค้านที่คาดว่ามีผลอย่างมากเช่นกัน คือการชูประเด็นการปกป้องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญของประเทศ ต่อต้านความพยายามของ BJP ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและทำให้ระบอบการปกครองของประเทศมีความเป็นอำนาจนิยมมากขึ้น

 

“คนอินเดียมีความรักและหวงแหนในรัฐธรรมนูญของเขาค่อนข้างมาก ทั้งคนอินเดียทั่วไปและชนกลุ่มน้อย ในรัฐธรรมนูญอินเดียมีการสงวนสิทธิพิเศษบางอย่างของชนกลุ่มน้อย ทำให้อะไรที่ไปกระทบต่อรัฐธรรมนูญจะเป็นเรื่องที่คนอินเดียค่อนข้างอ่อนไหว”

 

อนาคตเศรษฐกิจไม่ชัดเจน

 

ประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นอีกปัจจัยที่เชื่อว่าส่งผลต่อคะแนนเสียงของ BJP โดย ผศ.ดร.มาโนชญ์ ชี้ว่า แม้รัฐบาลโมดีจะมีผลงานในการทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่ดี แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่รัฐบาลพยายามผลักดันนั้นส่วนมากกระจุกตัวในเขตเมืองและไม่กระจายสู่พื้นที่รอบนอก 

 

นอกจากนี้ภาคการเกษตรที่ถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ แต่กลุ่มเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ต่างประสบปัญหาขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ จนมีการประท้วงเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง

 

ส่วนทางด้านประชาชนที่สนับสนุนโมดีจากผลงานในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่ผ่านมา ผศ.ดร.มาโนชญ์ ระบุว่า ประชาชนบางส่วนมีความไม่มั่นใจต่อภาพอนาคตทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ชัดเจนในยุครัฐบาลใหม่ของโมดี แม้ BJP จะมีความพยายามสร้างความเชื่อมั่นด้วยการชูสโลแกนหาเสียงว่า ‘Modi ki Guarantee’ หรือรับประกันโดยโมดี ที่สื่อว่าการเลือก BJP และโมดี จะทำให้การพัฒนาต่างๆ ถูกสานต่อ

 

จะเกิดอะไรต่อจากนี้?

 

ผศ.ดร.มาโนชญ์ ชี้ว่า ถึงแม้ BJP จะตั้งรัฐบาลได้ แต่ยังไม่แน่ว่าโมดีจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 หรือไม่ เนื่องจากจะมีการต่อรองเกิดขึ้นมากมาย และอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

 

โดยที่นั่ง สส. ระหว่าง BJP และพรรคร่วมรัฐบาลที่คาดว่าอาจได้ราว 290 ที่นั่ง ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งไม่มาก ยังดูกระท่อนกระแท่น และโมดีอาจต้องรวมพรรคการเมืองอื่นเข้ามาร่วมรัฐบาลมากกว่านี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้มากขึ้น

 

ขณะที่การฟอร์มรัฐบาลหลังจากนี้อาจทำให้พรรค BJP ทำงานได้ยากขึ้น เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลมีอำนาจต่อรองสูงขึ้นและต้องการมีผลงานในการบริหารประเทศมากขึ้นด้วย เพื่อผลประโยชน์ในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป

 

สำหรับโจทย์ใหญ่ของโมดีและ BJP หลังจากนี้ ผศ.ดร.มาโนชญ์ มองว่า เศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งรวมถึงการทำให้กลุ่มเกษตรกรมีความพอใจและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นชาตินิยมที่นำมาซึ่งความแบ่งแยก โดยเฉพาะทางด้านศาสนา ซึ่งโมดีอาจต้องลดความเข้มข้นลง และนำสิ่งที่ได้จากการเลือกตั้งรอบนี้เป็นบทเรียน

 

ภาพ: Faisal Bashir / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising