สหรัฐฯ และอินเดียกระชับความร่วมมือทางการทหารและเทคโนโลยี หลัง นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เปิดฉากเยือนสหรัฐฯ และเข้าพบ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวานนี้ (21 มิถุนายน) ท่ามกลางกระแสกดดันจากเดโมแครตให้ไบเดนหยิบยกปัญหาสิทธิมนุษยชนในอินเดียขึ้นมาหารือกับโมดี
ทั้งนี้ทริปของโมดีในครั้งนี้เริ่มต้นได้อย่างไม่ราบรื่นนัก โดยนายกรัฐมนตรีอินเดียเดินทางไปยังมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Science Foundation) สายเกือบครึ่งชั่วโมง จน จิล ไบเดน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ต้องเริ่มต้นทัวร์โดยไม่มีเขา อย่างไรก็ตาม โมดีได้กล่าวขอโทษ ก่อนที่จะเดินทางไปยังทำเนียบขาว เพื่อรับประทานอาหารค่ำส่วนตัวกับประธานาธิบดีไบเดน
โดยระหว่างการเยี่ยมชมสถานที่กับ จิล ไบเดน โมดีได้กล่าวเชิญชวนนักเรียนอเมริกันให้มาเยือนประเทศอินเดีย พร้อมแสดงความยินดีที่ได้พบกับ ‘เยาวชนผู้มีความคิดสร้างสรรค์’ และยังพูดถึงการฝึกอบรมนักเรียนเกี่ยวกับ AI และโครงการสร้างแล็บทดลองทั่วอินเดีย
ในคืนวันพฤหัสบดี (22 มิถุนายน) โมดีจะเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ทำเนียบขาว หลังกล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสและแถลงข่าวร่วมกับไบเดน ซึ่งทางฝ่ายสหรัฐฯ ได้เตรียมอาหารมังสวิรัติ และของขวัญให้เขาอย่างกล้องถ่ายรูปวินเทจจากประธานาธิบดีไบเดน ส่วนสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งจะมอบหนังสือบทกวี Collection of Poems by Robert Frost ฉบับพิมพ์ครั้งแรกพร้อมลายเซ็นด้วย
หลังจากงานเลี้ยง ทางสหรัฐฯ และอินเดียจะร่วมประกาศความร่วมมือใน ‘การพัฒนาและผลิตระบบทางการทหาร’ รวมไปถึงระบบการทหารขั้นสูง ซึ่งเจ้าหน้าที่อธิบายว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่อินเดียต้องการซื้ออาวุธจากแหล่งอื่นนอกเหนือจากคู่ค้าเดิมอย่างรัสเซีย
งานแถลงข่าวในวันพฤหัสบดีถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติ เพราะโมดียังไม่เคยแถลงข่าวในอินเดียแม้แต่ครั้งเดียว นับตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ 9 ปีที่แล้ว และแม้กระทั่งในเดือนพฤษภาคม 2019 ที่โมดีเคยเข้าร่วมการแถลงข่าว แต่เขาก็ไม่ได้ตอบคำถามจากสื่อมวลชน
นอกเหนือจากการรับรองของรัฐบาลแล้ว บริษัทเอกชนหลายแห่งก็ได้ต้อนรับโมดีอย่างอบอุ่น เช่น อีลอน มัสก์ ซีอีโอ Tesla ที่ได้เข้าพบโมดีในนครนิวยอร์กเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (20 มิถุนายน) ซึ่งมีการพูดถึงแผนการวางจำหน่ายรถ Tesla ในอินเดียโดยเร็วที่สุด ส่วนอีกหลายบริษัทก็ได้เตรียมข้อตกลงด้านปัญญาประดิษฐ์ คอมพิวเตอร์ควอนตัม รวมถึงประกาศการลงทุนในประเทศอินเดียอีกด้วย
ถึงแม้โมดีเคยมาเยือนสหรัฐฯ แล้วถึง 5 ครั้งนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2014 แต่การเดินทางครั้งนี้ถือว่าเป็นการเยือนเต็มรูปแบบครั้งแรก
จากมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งสหรัฐฯ และอินเดียต่างกำลังต่อสู้กับการขยายอำนาจของจีนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก สหรัฐฯ จึงมองอินเดียเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการถ่วงดุลอำนาจจีน ในขณะที่โมดีมีความพยายามที่จะยกระดับอิทธิพลของอินเดียในเวทีโลก ด้วยจำนวนประชากรที่มากที่สุดในโลกถึง 1.4 พันล้านคน และจากตัวเลขของทำเนียบขาวเมื่อปีที่แล้ว มีนักเรียนชาวอินเดียกว่า 200,000 คนที่กำลังศึกษาอยู่ในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ไบเดนยังคงต้องพบเจอกับกระแสความกังวลต่อระบอบประชาธิปไตยในอินเดีย ภายใต้การปกครองของพรรคภารตียชนตา พรรคชาตินิยมของโมดี ซึ่งเมื่อวันพุธ (21 มิถุนายน) นักสิทธิมนุษยชนได้รวมตัวประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ หยิบยกประเด็นปัญหาการคุกคามสิทธิมนุษยชนในอินเดียมาหารือ ขณะที่ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ระบุกับสื่อว่า “เราดำเนินการในเรื่องนี้โดยพยายามไม่ให้ดูเป็นการสอนหรือถือสิทธิ์ว่าเราถูกต้องเสมอ”
ส่วนปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซัลลิแวนกล่าวว่า ไบเดนจะพูดถึงประเด็นนี้ก่อนจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G20 ในปลายปีที่จะจัดขึ้นที่อินเดีย และเสริมว่าทางอินเดียได้ ‘เปลี่ยนแปลงท่าทีเล็กน้อย’ ในแนวทางการเจรจากับรัสเซีย ตั้งแต่โมดีกล่าวกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ว่า ‘ยุคปัจจุบันไม่ใช่ยุคแห่งสงคราม’
ภาพ: Jabin Botsford / The Washington Post via Getty Images
อ้างอิง: