×

‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อเดือน ก.ย. กลับมาขยายตัว 1.68% เหตุน้ำมันแพง-รัฐหยุดอุดหนุนค่าน้ำค่าไฟ คาดเฉลี่ยทั้งปียังอยู่ระหว่าง 0.8-1.2%

05.10.2021
  • LOADING...
กระทรวงพาณิชย์

กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนกันยายน 2564 กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ 1.68% หลังจากที่หดตัว 0.02% ในเดือนก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญจากการสิ้นสุดลงของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านสาธารณูปโภค (ค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา) และระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงยังสูงต่อเนื่อง 

 

ขณะที่สินค้าอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังเคลื่อนไหวเป็นปกติและค่อนข้างทรงตัว ยกเว้นสินค้ากลุ่มอาหารสดที่เคลื่อนไหวในทิศทางที่ค่อนข้างผันผวน แต่ส่วนใหญ่ยังมีราคาต่ำกว่าปีก่อน โดยเฉพาะข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ไก่สด ผักสด และผลไม้สด ยกเว้นไข่ไก่ที่ยังมีราคาสูงกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก แต่แนวโน้มราคาเริ่มลดลงตามลำดับ

 

เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนกันยายน สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน เช่น ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า มูลค่าการส่งออกสินค้า รายได้เกษตรกร ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง อีกทั้งยังสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้ผลิตที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ชี้ว่าราคาสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายในระยะต่อไปยังมีแรงส่งจากราคาสินค้าในภาคการผลิตบางชนิด ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังและดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป

 

ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน (เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว) สูงขึ้น 0.19% (YoY) เป็นการสูงขึ้นต่อเนื่องจาก 0.07% ในเดือนก่อน ด้านเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2564 ขยายตัว 1.59% (MoM) เมื่อเทียบไตรมาส 3/64 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 0.70% (YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้น 0.23% (QoQ) และเฉลี่ย 9 เดือน (เดือนมกราคม-กันยายน) ปี 2564 สูงขึ้น 0.83% (AoA)

 

วิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อในไตรมาสสุดท้ายของปีว่า หากไม่มีมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐที่ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการอย่างมีนัยสำคัญเพิ่มเติม เงินเฟ้อจะมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

โดยมีปัจจัยสำคัญจาก 1. แนวโน้มราคาน้ำมันยังอยู่ในทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ในอัตราเพิ่มที่น้อยกว่าช่วงที่ผ่านมา 2. แนวโน้มสถานการณ์โควิดเริ่มผ่อนคลาย และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินการได้ตามลำดับ และ 3. แนวโน้มการอ่อนค่าของค่าเงินบาท ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและขนส่ง 

 

อย่างไรก็ตาม สินค้าในหมวดอาหารสดบางชนิด โดยเฉพาะ ข้าว ผักสด และผลไม้สด ยังคงมีแนวโน้มต่ำกว่าปีก่อน และมีโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ ขณะที่สถานการณ์โควิดยังคงเป็นความเสี่ยงที่เป็นตัวแปรสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องเฝ้าระวังและส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ

 

ทั้งนี้ ในเดือนกันยายน 2564 กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับสมมติฐานสำหรับคาดการณ์เงินเฟ้อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2564 จะอยู่ระหว่าง 0.8-1.2%

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X