×

‘พาณิชย์’ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ม.ค. พุ่งแตะ 3.23% จากปัจจัยด้านราคาพลังงาน ชี้เป็นเงินเฟ้อแบบอ่อนๆ ยังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการสกัด

04.02.2022
  • LOADING...
‘พาณิชย์’ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ม.ค. พุ่งแตะ 3.23% จากปัจจัยด้านราคาพลังงาน ชี้เป็นเงินเฟ้อแบบอ่อนๆ ยังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการสกัด

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมกราคม 2565 ปรับตัวสูงขึ้น 3.23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากระดับ 2.17% ในเดือนธันวาคม 2564 โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้น คือ สินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ โดยราคาสินค้ากลุ่มพลังงานปรับตัวสูงขึ้น 19.22% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

 

ทั้งนี้ เมื่อเทียบสินค้ากลุ่มพลังงานกับสินค้าในกลุ่มอาหารสด อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด และไข่ไก่ พบว่า กลุ่มพลังงานมีผลต่อการขึ้นของเงินเฟ้อถึง 2.25% ขณะที่กลุ่มอาหารสดส่งผลต่อเงินเฟ้อน้อยกว่า โดยเนื้อสุกรมีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเพียง 0.67% ขณะที่ไก่สดมีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.03% และไข่ไก่มีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.05%

 

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอื่นๆ ที่ปรับราคาสูงขึ้นเล็กน้อยตามต้นทุน (ค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และค่าจ้างแรงงาน) อาทิ น้ำมันพืช อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน และค่าบริการส่วนบุคคล ที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อเล็กน้อย 

 

รณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ระบุว่า เงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นในเดือนนี้เป็นเงินเฟ้อระดับปานกลางที่ค่อนข้างต่ำเกือบเป็นเงินเฟ้ออ่อน และหากพิจารณาเงินเฟ้อประเทศคู่ค้าสำคัญและในกลุ่มอาเซียน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2564) อาทิ สหรัฐอเมริกา สูงขึ้น 7%YoY สหราชอาณาจักร สูงขึ้น 5.4%YoY สิงคโปร์ สูงขึ้น 4%YoY และฟิลิปปินส์ สูงขึ้น 3.6%YoY 

 

ทำให้เมื่อพิจารณาภาวะเงินเฟ้อของหลายประเทศในสถานการณ์โลกปัจจุบัน       เงินเฟ้อของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก และสรุปได้ว่าสินค้าในกลุ่มพลังงานส่งผลให้เงินเฟ้อในเดือนนี้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่สินค้ากลุ่มอาหารยังไม่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยเพิ่มสูงขึ้น 

 

“ระดับเงินเฟ้อที่ 3.23% ยังไม่ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ให้หน่วยงานภาครัฐต้องใช้มาตรการสกัด โดยปกติการใช้นโยบายสกัดเงินเฟ้อจะทำเมื่อเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงต่อเนื่องกันหลายเดือน เช่น สูงเกิน 3% ต่อเนื่องกันเกิน 6 เดือนขึ้นไป หรือเงินเฟ้อปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดภายใน 4-6 เดือน ของไทยตอนนี้ยังขึ้นมาแค่เดือนเดียว และเกิดจากปัจจัยภายนอกคือราคาน้ำมัน ทำให้ยังต้องติดตามดูกันต่อไป” รณรงค์กล่าว 

 

รณรงค์กล่าวอีกว่า เงินเฟ้อที่สูงขึ้นในเดือนมกราคมสอดคล้องกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญหลายตัวที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านอุปสงค์ ได้แก่ ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และการส่งออกสินค้าที่ยังคงขยายตัวได้ดี ด้านอุปทาน ได้แก่ กำลังการผลิต ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง และยอดการจัดเก็บภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น 

 

นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิตที่สูงขึ้น 8.7% จาก 7.7% ในเดือนก่อนหน้า และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้น 6.1% จาก 8.9% ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.6 จากระดับ 47.0 ในเดือนก่อนหน้า 

 

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในระดับที่ไม่มากนัก สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาในตลาดโลก 

 

ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง ค่าจ้างแรงงาน และยกเลิกการยกเว้นการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2565 ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการผลิตและราคาขายปลีกสินค้าและบริการในลำดับต่อไป นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น อาทิ ค่าขนส่ง และต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X