×
SCB Omnibus Fund 2024

‘พาณิชย์’ เผย ส่งออกปี 64 โตทะลุเป้าที่ 17.1% คาดปีนี้ยังเป็นบวกอีก 3-4% เตรียมผลักดัน Soft Power นำรายได้เข้าประเทศ

21.01.2022
  • LOADING...
‘พาณิชย์’ เผย ส่งออกปี 64 โตทะลุเป้าที่ 17.1%

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2564 สามารถขยายตัวได้ถึง 17.1% สูงเกินเป้าที่กำหนดไว้ที่ 4% คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวมที่ 271,173.5 ล้านดอลลาร์ หรือ 8,542,103 ล้านบาท 

 

ทั้งนี้ หากแยกตามประเภทสินค้า 3 หมวดสำคัญ พบว่า หมวดสินค้าเกษตรเป็นบวกรวม 23.5% คิดเป็น 819,831 ล้านบาท โดยมีสินค้าที่ขยายตัวสูง เช่น ทุเรียน +68.4% ทำเงินเข้าประเทศ 109,206 ล้านบาท ยางพารา +58.6% ทำเงินเข้าประเทศ 175,978 ล้านบาท มะม่วงสด 51.9% นำเงินเข้าประเทศ 2,935 ล้านบาท 

ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง +46.7% นำเงินเข้าประเทศ 123,357 ล้านบาท และมังคุด เป็นดาวรุ่ง +15.0% นำเงินเข้าประเทศ 17,090 ล้านบาท

 

ขณะที่สินค้าในหมวดอุตสาหกรรมเกษตร พบว่า เป็นบวก 6.7% นำเงินเข้าประเทศ 607,228 ล้านบาท โดยมีสินค้าสำคัญ เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง ผลไม้แห้ง กระป๋อง และแปรรูป +38.5% นำเงินเข้าประเทศ 250,162 ล้านบาท อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นดาวรุ่งมาตลอดตั้งแต่ปี 2563-2564 +23.2% ทำเงินเข้าประเทศ 77,808 ล้านบาท

 

ด้านสินค้าหมวดอุตสาหกรรมขยายตัว 16% คิดเป็นมูลค่า 6,790,161 ล้านบาท ตัวอย่างเช่น สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน +48.5% นำเงินเข้าประเทศ 962,461 ล้านบาท เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ +40.1% นำเงินเข้าประเทศ 214,342 ล้านบาท อัญมณีและเครื่องประดับ +26.5% นำเงินเข้าประเทศ 194,706 ล้านบาท รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ +36.2% นำเงินเข้าประเทศ 914,103 ล้านบาท

 

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนทำให้การส่งออกปี 2564 ขยายตัวได้สูง ประกอบด้วย 

 

  1. การทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนในรูป กรอ.พาณิชย์ รวมทั้งการเร่งรัดการเจาะตลาดเมืองรองในรูป Mini-FTA และมาตรการทางการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ซึ่งช่วยให้ปัญหาอุปสรรคในการส่งออกสามารถลดน้อยและเดินหน้าได้

 

  1. จากการที่ประเทศคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

 

  1. ภาคการผลิตทั่วโลกขยายตัวในปี 2564 ดูได้จากบัญชี PMI (Global Manufacturing PMI หรือดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก) ที่เกินกว่า 50 ถึง 18 เดือนต่อเนื่อง

 

  1. ค่าเงินบาทยังไม่แข็งค่า ทำให้เราสามารถแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งในตลาดต่างประเทศได้

 

  1. ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งมี 2 ด้าน คือ จะทำให้ต้นทุนเราเพิ่ม แต่ก็เป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ตัวเลขการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับน้ำมันมีมูลค่าเพิ่มขึ้น

 

จุรินทร์กล่าวว่า สำหรับในปี 2565 นี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยจะยังเป็นบวกต่อไปที่ระดับ 3-4% คิดเป็นมูลค่าส่งออกราว 270,000-282,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 9.08-9.16 ล้านล้านบาท

 

โดยปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออกในปี 2565 ประกอบด้วย

  1. การขยายตัวของเศรษฐกิจและการนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญขยายตัว

 

  1. ค่าเงินบาทยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการส่งออก

 

  1. คาดว่าปริมาณตู้คอนเทนเนอร์จะเพิ่มขึ้นและเข้าสู่ความสมดุลได้ในช่วงกลางปีนี้ถึงปลายปี 

 

  1. การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้ตลาดโลกมีความต้องการสินค้าไอที อุปกรณ์อัจฉริยะ ที่เราเป็นผู้ส่งออกด้วย

 

  1. คาดว่าความรุนแรงของโควิดจะลดน้อยลง ทำให้การเจรจาการค้าอุปสรรคลดลง

 

  1. การมีผลบังคับใช้ของ RCEP ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ซึ่งจะมีส่วนช่วยส่งเสริมตัวเลขการส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 14 ประเทศได้มากขึ้น คล่องตัวและสะดวกขึ้น เพราะหลายตัวภาษีเป็นศูนย์ 

 

รณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า สินค้าดาวรุ่งในการส่งออกปี 2565 นี้จะยังเป็นสินค้าตัวเดิมจากปี 2564 เช่น ผลไม้สด ผลไม้แช่แข็ง สินค้ากลุ่มยาและเวชภัณฑ์ น้ำตาลทราย อาหารเลี้ยงสัตว์ สินค้าอุตสาหกรรม รถยนต์ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อัญมณี คอมพิวเตอร์ และเครื่องปรับอากาศ 

 

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์จะพยายามผลักดันการส่งออกสินค้าในกลุ่ม BCG เช่น อาหารแห่งอนาคต อาหารสัตว์เลี้ยง บรรจุภัณฑ์ ไลฟ์สไตล์หรือเครื่องสำอางสมุนไพรให้มากขึ้น โดยในปี 2565 นี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะมีการจัดกิจกรรมประมาณ 152 กิจกรรม เพื่อบุกตลาดที่มีศักยภาพเดิมและเปิดเพิ่มตลาดใหม่ ขยายสัดส่วนของการส่งออกสินค้าไทยสู่ตลาดโลกไปตลาดที่เป็นเมืองรอง

 

นอกจากนี้ ยังจะเน้นสร้างรายได้เข้าประเทศจาก Soft Power โดยเฉพาะเรื่องดิจิทัลคอนเทนต์ แอนิเมชัน ภาพยนตร์ และอื่นๆ โดยกระทรวงพาณิชย์จะให้การสนับสนุนอย่างเข้มข้น

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising