ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนเมษายนปรับตัวลดลงอีกครั้ง โดยลดลงสู่ระดับ 43.5 เทียบกับระดับ 47.5 ในเดือนก่อนหน้า ลดลงทุกภูมิภาค และทุกอาชีพ สาเหตุมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ถือว่าดีกว่าการระบาดของโควิด-19 ทุกช่วงที่ผ่านมา (ระลอก 1 และ 2)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 40.2 มาอยู่ที่ระดับ 36.4 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตพบว่า ปรับลดลงจากระดับ 52.3 มาอยู่ที่ระดับ 48.2
ทั้งนี้หากแยกรายภูมิภาคจะพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากระดับ 47.5 มาอยู่ที่ระดับ 41.5 และภาคเหนือ ปรับตัวลดลงจากระดับ 45.8 มาอยู่ที่ระดับ 43.5 และเมื่อจำแนกรายอาชีพก็ลดลงทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มไม่ได้ทำงาน ปรับลดลงจากระดับ 42.9 มาอยู่ที่ระดับ 37.2 กลุ่มรับจ้างอิสระ ปรับลดลงจากระดับ 45.1 มาอยู่ที่ระดับ 41.0 ซึ่งเป็นกลุ่มได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม กลุ่มพนักงานของรัฐยังปรับลดลงเช่นกัน จากระดับ 52.5 มาอยู่ที่ระดับ 49.6
“ทุกครั้งที่มีการระบาดของโควิค-19 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับและต้องเข้าใจถึงความกังวลของบริโภค ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงเป็นเรื่องปกติ แต่การลดลงในครั้งนี้น้อยกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เทียบกับการระบาดรอบแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ดัชนีลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.1 การระบาดในเดือนกรกฎาคม 2563 ดัชนีลดลงมาอยู่ที่ระดับ 41.0 และการระบาดในเดือนมกราคม 2564 ดัชนีลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.2”
อย่างไรก็ตาม มองว่าการระบาดในรอบนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงน้อยกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้สาเหตุน่าจะมาจากการที่เรายังมีความหวังจากวัคซีนซึ่งน่าจะทยอยดำเนินการได้ต่อเนื่อง และสัญญานการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากเครื่องชี้วัดต่างๆ ก่อนหน้านี้ รวมทั้งมาตรการต่างๆ ของรัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง น่าจะช่วยให้ประชาชนบางส่วนยังเชื่อมั่น
“เราหวังว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดให้กลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดได้โดยเร็ว ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจอันเข้มแข็ง และแนวโน้มการฟื้นตัวที่มีสัญญาณดีขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงก่อนการระบาด ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในหลากหลายรูปแบบ น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศกลับเข้าสู่ทิศทางเดิมและพร้อมจะขยายตัวได่อย่างต่อเนื่องอีกครั้ง ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับได้”
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล