×

พาณิชย์เผย เงินเฟ้อเดือน ส.ค. ขยับเพิ่มเป็น 0.88% ตามราคาน้ำมัน จับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกดดันเงินเฟ้อเดือน ก.ย. สูงขึ้น

05.09.2023
  • LOADING...

กระทรวงพาณิชย์เผย เงินเฟ้อเดือนสิงหาคมขยายตัว 0.88% ตามการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน ขณะที่ราคาอาหารยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมเงินเฟ้อ 8 เดือนแรกอยู่ที่ 2.01% เป็นไปตามกรอบเป้าหมาย จับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดค่าครองชีพของรัฐบาลส่งผลต่อเงินเฟ้อเดือนกันยายน

 

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนสิงหาคม 2566 เท่ากับ 108.41 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งเท่ากับ 107.46 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.88%YoY เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 0.38% ในเดือนกรกฎาคม 2566 ตามการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มพลังงาน 

 

ขณะที่กลุ่มอาหารสดราคาทรงตัว ส่วนเนื้อสัตว์และเครื่องประกอบอาหารราคาลดลง ส่งผลให้สินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ราคาโดยรวมชะลอตัวต่อเนื่อง 

 

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับสูงขึ้น 2.01%AoA ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายของกระทรวงการคลังและคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ 1.0-3.0%

 

โดยปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ยังคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปี 2566 อยู่ระหว่าง 1.0-2.0% (ค่ากลาง 1.5%) และจะมีการทบทวนอีกครั้งหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2566) พบว่า อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง ยกเว้นบางประเทศประสบปัญหาภัยแล้งและสภาพอากาศแปรปรวน อาทิ อินเดีย ที่อัตราเงินเฟ้อเร่งสูงขึ้นค่อนข้างมาก 

 

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (ไทย, สปป.ลาว, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และเวียดนาม) 

 

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคม 2566 ที่สูงขึ้น 0.88% มีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลกเกือบทุกประเภท ยกเว้นกลุ่มดีเซลราคาปรับลดลง รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะ เช่น เครื่องบิน จักรยานยนต์รับจ้าง และรถเมล์เล็ก / รถสองแถว ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุน 

 

นอกจากนี้ค่ากระแสไฟฟ้า, ราคาก๊าซหุงต้ม, ค่าของใช้ส่วนบุคคล (แป้งทาผิวกาย, กระดาษชำระ และยาสีฟัน), ค่าแต่งผมชายและสตรี และค่ายา (ยาแก้ปวดลดไข้และยาแก้ไอ) ราคายังคงอยู่ระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมา 

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น เสื้อบุรุษและสตรี, เสื้อและกางเกงเด็ก, เครื่องใช้ไฟฟ้า (ตู้เย็น, เตารีด, เครื่องปรับอากาศ และเครื่องซักผ้า), สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผงซักฟอก, น้ำยาปรับผ้านุ่ม, ผลิตภัณฑ์ฟอกผ้าขาว และไม้ถูพื้น) รวมทั้งหน้ากากอนามัย 

 

ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกพบว่า ในเดือนสิงหาคมปรับสูงขึ้น 0.79%YoY ชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 (นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2566) สะท้อนให้เห็นว่า แรงกดดันของต้นทุนการผลิตที่นอกเหนือจากราคาพลังงานน้อยลง 

 

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือนกันยายน 2566 ประเมินว่า มีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยมีปัจจัยที่ส่งผลบวกต่ออัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาพลังงานทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่อาจเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ และสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ปริมาณพืชผลการเกษตรและปศุสัตว์ลดลง 

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ชะลอตัว และการใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์และการลงทุนภายในประเทศ รวมทั้งฐานการคำนวณในเดือนกันยายน 2565 ที่อยู่ในระดับสูง จะเป็นปัจจัยกดดันให้เงินเฟ้อทรงตัวและเพิ่มขึ้นไม่มาก 

 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่เกิดจากมาตรการของภาครัฐที่คาดว่าจะออกมาในระยะอันใกล้นี้ และส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ เช่น มาตรการลดค่าครองชีพ, การลดต้นทุนภาคการผลิตและบริการ (ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า, ราคาน้ำมัน, ค่าไฟฟ้า และราคาก๊าซหุงต้ม) และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising