กระทรวงพาณิชย์ เผยตัวเลขการส่งออกเดือนกันยายนขยายตัวที่ 7.8% ขณะที่ภาพรวมการส่งออก 9 เดือนแรกโต 10.6% มั่นใจทั้งปียังโตได้ 8% สูงกว่าเป้าหนึ่งเท่าตัว
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศเดือนกันยายน 2565 พบว่า ตัวเลขการส่งออกขยายตัวได้ 7.8% คิดเป็นมูลค่ารวม 2.49 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 8.88 แสนล้านบาท ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวได้ 10.6% คิดเป็นมูลค่า 2.21 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 7.52 ล้านล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ความท้าทาย ‘ เศรษฐกิจไทย ปี 2566 ’ กับการปรับตัวของภาคธุรกิจ
- ฉวยจังหวะค่าเงินอ่อน ส่องโอกาสลงทุนหุ้นโลก สร้างพอร์ตเติบโตระยะยาว
- ‘ส่วนต่างรายได้’ กับนโยบายรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 2.57 หมื่นล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15.6% และ 9 เดือน มีมูลค่า 2.36 แสนล้านดอลลาร์ ขยายตัว 20.7% ส่งผลให้ดุลการค้าเดือนกันยายนขาดดุล 853 ล้านดอลลาร์ และ 9 เดือน ขาดดุล 1.49 หมื่นล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ หากจำแนกดูตามหมวดสินค้าพบว่าการส่งออกหมวดสินค้าเกษตรขยายตัว 2.7% คิดเป็นมูลค่าราว 2 พันล้านดอลลาร์ หรือ 6.18 หมื่นล้านบาท สำหรับสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผลไม้แช่แข็ง ผลไม้แห้ง ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป ข้าว และยางพารา
ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวได้ 0.8% คิดเป็นมูลค่าราว 1.73 พันล้านดอลลาร์ หรือ 7.25 หมื่นล้านบาท โดยมีสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ไอศกรีม อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารทะเลกระป๋อง และอาหารทะเลแปรรูป
ด้านหมวดสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้ 9.4% คิดเป็นมูลค่า 2.02 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 7.21 แสนล้านบาท มีรายการสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์และส่วนประกอบ เครื่องใช้สำหรับเดินทาง เครื่องปรับอากาศ รถจักรยานยนต์ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ
สำหรับตลาดที่ขยายตัวสูง 10 อันดับแรก ประกอบด้วย
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ +70%
- สหราชอาณาจักร +51.5%
- ซาอุดีอาระเบีย +36.7%
- CLMV +26.3%
- สหรัฐฯ +26.2%
- สหภาพยุโรป +18.0%
- ทวีปออสเตรเลีย +15.5%
- แคนาดา +10.6%
- อาเซียน +9.0%
- ลาตินอเมริกา +6.3%
สำหรับปัจจัยบวกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนตัวเลขการส่งออกเพิ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม ประกอบด้วย
- กิจกรรมเศรษฐกิจโลกที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น
- ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่เริ่มคลี่คลาย
- ราคาสินค้าเกษตรไทย โดยเฉพาะข้าวที่อยู่ในระดับที่แข่งขันได้มากขึ้น
- การอ่อนค่าของเงินบาทที่มีส่วนช่วยให้การส่งออกและการแข่งขันในตลาดโลกแข่งขันได้มากขึ้น
รมว.พาณิชย์ยังประเมินว่า ปัจจัยบวกในข้างต้นจะมีส่วนช่วยให้แนวโน้มการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปียังเป็นบวกต่อเนื่อง โดยเชื่อมั่นว่าภาพรวมการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้เกินเป้าหมายที่วางเอาไว้ในช่วงต้นปีที่ 4-5%
“มีความเป็นไปได้สูงที่การส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้มากกว่าเป้าหมายหนึ่งเท่าตัว หรือราว 8% คิดเป็นมูลค่า 9 ล้านล้านบาท โดยขณะนี้กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างเดินหน้าแผนเชิงรุกและเชิงลึก เพื่อผลักดันการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี” จุรินทร์กล่าว