รณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ศึกษาโอกาสการส่งออกสินค้าไปตลาดซาอุดีอาระเบีย หลังมีการฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปซาอุดีอาระเบียจะสามารถกลับไปเหนือระดับ 1 แสนล้านบาทได้ในระยะยาว และคาดการณ์ว่าในปี 2565 มูลค่าการค้ารวมระหว่าง 2 ประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 280,336 ล้านบาท ขยายตัว 20.3% โดยการส่งออกจะมีมูลค่า 54,678 ล้านบาท ขยายตัว 6.2% การนำเข้าจะมีมูลค่า 225,658 ล้านบาท ขยายตัว 24.3% และขาดดุลการค้า 170,980 ล้านบาท
สำหรับสินค้าส่งออกไทยที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง
ขณะที่สินค้านำเข้าที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ได้แก่ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียถือเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง รองจากตุรกี จากข้อมูลของธนาคารโลก ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของซาอุดีอาระเบียอยู่ที่ประมาณ 700 ล้านล้านดอลลาร์ มีรายได้ต่อหัวเฉลี่ย 46,700 ดอลลาร์ โดยคาดว่าในปี 2565 เศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียจะขยายตัวที่ 4.9% จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมันจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากการลงทุนที่ขยายตัว นอกจากนี้ยังมองว่าเศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียในปี 2566 จะยังคงขยายตัวที่ 2.3%
ผอ.สนค. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สัดส่วนการส่งออกของไทยไปซาอุดีอาระเบียก่อนหน้าที่จะลดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เฉลี่ยอยู่ที่ 2.4% (เฉลี่ยปี 2527-2531) และเริ่มลดลงนับแต่นั้น โดยปี 2533 การส่งออกไปซาอุดีอาระเบียหดตัว 11% แต่ก็ยังมีการค้าระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีสัดส่วนการส่งออกที่ลดลงก็ตาม
ในปี 2548 สัดส่วนการส่งออกไปซาอุดีอาระเบียเริ่มปรับตัวดีขึ้น และมูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงถึง 63.6% เนื่องจากซาอุดีอาระเบียเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) และมีการเปิดกว้างทางการค้ากับต่างประเทศมากขึ้น หลังจากนั้นสัดส่วนการส่งออกไปซาอุดีอาระเบียปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ
มูลค่าการส่งออกไปซาอุดีอาระเบียเติบโตได้ในเกณฑ์ดี จนกระทั่งปี 2558 การส่งออกเริ่มชะลอตัวลงอีกครั้ง โดยสัดส่วนการส่งออกไปยังซาอุดีอาระเบียทยอยปรับลดลงจาก 1.4% ในปี 2558 เหลือ 0.6% ในปี 2564 จากผลกระทบของราคาน้ำมันดิบตกต่ำ และความไม่สงบในตะวันออกกลาง
สำหรับสินค้าที่หดตัวลงในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า ข้าว และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก และอาหารสัตว์เลี้ยง เติบโตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตในครั้งนี้ หากมองในแง่เศรษฐกิจการค้า ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถสร้างความร่วมมือได้ใน 5 ด้านหลัก ได้แก่ แรงงาน การลงทุน การท่องเที่ยว การค้า และอาหาร ซึ่ง สนค. ประเมินว่าการกระชับความสัมพันธ์ฉันมิตรของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคี จะเป็นกลไกความร่วมมือที่สำคัญที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจ เปิดประตูการค้า และแสวงหาโอกาสในการลงทุนร่วมกัน จะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการส่งออกไปตลาดซาอุดีอาระเบีย
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP