ค่าอินเทอร์เน็ตมือถือในสิงคโปร์ ราคาลดลงเหลือเพียงประมาณ 0.20-0.50 ดอลลาร์สิงคโปร์ (5-12 บาท) ต่อ GB ลดลงเหลือ 1 ใน 25 เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้ว ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมากมายขนาดนั้น
ทำไมเหรอครับ นั่นเป็นเพราะการแข่งขัน ประเทศเล็กๆ ขนาดใหญ่กว่าจังหวัดนนทบุรีนิดหน่อย และมีประชากรประมาณ 5 ล้านคนเศษเท่านั้นเอง เดิมทีมีผู้ประกอบการถึง 3 เจ้าหลัก คือ SingTel, M1 และ StarHub แต่ในปี 2016 รัฐบาลตัดสินใจให้ใบอนุญาตกับผู้ประกอบการรายใหม่ TPG Telecom จากออสเตรเลีย และได้เริ่มประกอบการอย่างเต็มตัวในปี 2020
นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการแบบ MVNO-Mobile Virtual Network Operator ที่เช่าใช้เครือข่ายจากผู้ประกอบการหลักอีกถึง 9 ราย จึงทำให้การแข่งขันเข้มข้นขึ้นไปอีก
การแข่งขันนี้เองทำให้รายได้เฉลี่ยต่อลูกค้าหนึ่งรายลดลงอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่เคยอยู่ประมาณ 70-80 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน ลงมาอยู่ในระดับ 30 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือนเท่านั้นเอง
แน่นอนที่สุด การแข่งขันทำให้รายได้ของผู้ประกอบการลดลงบ้าง แต่ก็ทำให้ผู้ประกอบการปรับตัว หาช่องทางรายได้ใหม่ๆ ทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และลดค่าใช้จ่ายลง จนถึงแม้จะไม่ได้กำไรล้นฟ้าเช่นเดิม แต่ก็ไม่ถึงกับขาดทุน
แต่ข้อดีของการแข่งขันหลัก ก็คือผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่ต่ำลง และมีคุณภาพของระบบโทรศัพท์ที่ดีขึ้นนั่นเอง จนทำให้เกือบทุกคนสามารถเข้าถึงบริการโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มโอกาสในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับประเทศนั่นเอง
ย้อนกลับมาดูประเทศไทย ที่มีประชากรมากกว่าสิงคโปร์ถึง 30+ เท่า กลับมีผู้ประกอบการหลักเพียง 4 เจ้า โดยเจ้าที่เล็กที่สุดมีส่วนแบ่งตลาดเพียงประมาณ 3% นั่นเอง
สำหรับในตลาด MVNO ประเทศไทยเรากลับมีขนาดค่อนข้างเล็ก มีผู้ประกอบการอิสระเพียงไม่กี่ราย เช่น Loxley, Feel Telecom, White Space เป็นต้น โดยมีเลขหมายที่ใช้งานอยู่เพียงประมาณ 3 หมื่นกว่าเลขหมายเท่านั้น (เทียบเลขหมายรวม 118 ล้านเลขหมาย)
นอกจากนี้หลายๆ รายในนั้น ก็กลับเป็นบริษัทของผู้ประกอบการหลัก 4 เจ้านั่นเอง เช่น Finn Mobile, Gomo, TrueMoveH (กสทช. ไม่ต่อใบอนุญาต) จึงทำให้ธุรกิจ MVNO ในประเทศไม่ประสบความสำเร็จ จนหลายๆ รายต้องถอนตัวไป เพราะมีการแข่งขันในระดับผู้ประกอบการหลักไม่เพียงพอ จนราคาต้นทุนที่ MVNO ได้จากผู้ประกอบการหลักสูง จนไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการหลักได้นั่นเอง
ส่วนตลาดมือถือและอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป เรามาติดตาม TRUE และ DTAC ว่าจะประกาศอะไรออกมาในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้กันครับ
หลังจากที่ดูสิงคโปร์ไปแล้ว เรามาต่อที่มาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านของเรา เป็นประเทศที่สองกันครับ
ประเทศมาเลเซียมีโครงสร้างอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือคล้ายคลึงกับประเทศไทย มีจำนวนเลขหมายประมาณ 40 ล้านเลขหมาย จากประชากรประมาณ 32 ล้านคน และมีผู้ประกอบการหลัก 3 เจ้า คือ
Maxis 38.2%
Digi 31.4%
Celcom 30.4%
แต่หากรวม MVNO และ 4G operator เข้าไปด้วย จะมีส่วนแบ่งการตลาดลดลงพอสมควรเลยทีเดียว
แต่ในเดือนเมษายน 2564 นี้เอง Axiata เจ้าของ Celcom ได้ทำสัญญากับ Telenor ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Digi ที่จะควบรวมบริษัทลูกทั้งสองเข้าด้วยกัน ซึ่งหากควบรวมสำเร็จ บริษัทใหม่จะมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 40-60% (แล้วแต่วิธีนับ) เลยทีเดียว มากกว่าผู้นำตลาดอย่าง Maxis เสียอีก
จะเห็นได้ว่าภาพนี้ เป็นภาพเดียวกันกับของไทยเราเลยทีเดียว แถม Telenor ก็เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องเหมือนกันอีกด้วย
การควบรวมกิจการครั้งนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน และมีหน่วยงาน MCMC (Malaysian Communications and Multimedia Commission) หรือ กสทช. ของประเทศมาเลเซียนั่นเอง มีหน้าที่ในการพิจารณาข้อตกลงในครั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตาม Communications and Multimedia Act, 1998 ซึ่งระบุไว้ชัดเจนตามมาตรา 133 ว่า
“A licensee shall not engage in any conduct which has the purpose of substantially lessening competition in a communication market.”
ผู้ถือใบอนุญาตห้ามทำการใดๆ ที่มีวัตถุประสงค์ทำให้การแข่งขันในตลาดการสื่อสารลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
แต่มาตรา 140 ในกฎหมายฉบับเดียวกันได้ให้อำนาจกับ MCMC ในการอนุญาตยกเว้นกรณีดังกล่าวได้
ดีลนี้น่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าว่า MCMC จะอนุมัติการควบรวมหรือไม่ ซึ่งประเทศไทยเราเองอาจจะสามารถใช้การตัดสินของ MCMC เป็นบรรทัดฐานกับกรณีที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย
ระหว่างรอกันนี้ เราแอบไปส่องอีกเคสหนึ่ง ซึ่งก็เกี่ยวกับ Telenor อีกแล้ว เป็น ใน พ.ศ. 2558 TeliaSonera ของสวีเดนได้ประกาศควบรวมกับ Telenor ของประเทศนอร์เวย์ ซึ่งอ้างว่าการควบรวมจะทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มในเน็ตเวิร์กและเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับลูกค้าในประเทศเดนมาร์ก แต่ Danish European Commission ก็มีความเป็นห่วงว่าการควบรวมจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ลดนวัตกรรมใหม่ และเชื่อว่าคู่แข่งที่เหลืออยู่อีกสองรายจะไม่สามารถสร้างการแข่งขันที่เพียงพอได้ จนในที่สุดบริษัททั้งสองก็ยกเลิกการควบรวมในครั้งนี้
ซึ่งนักการเมืองของพรรค Democratic Action Party ได้ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านการควบรวมในครั้งนี้ ด้วยการยกตัวอย่างดังกล่าวนั่นเอง
อ้างอิง:
- Singapore 4Q20 Equity Strategy ของ Phillip Securities Research
- https://dapmalaysia.org/statements/2021/04/13/32082/