จากกรณีองค์กรอนาคตเพชรบุรี ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพชรบุรี เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ทสม.) เพชรบุรี และตัวแทนชาวบ้าน 8 อำเภอ เข้ายื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรม เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 เพื่อคัดค้านการทำเหมืองแร่โดโลไมต์ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือและป่ายางน้ำกลัดใต้
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 พล.ต. กัณฑ์ชัย ประจวบอารีย์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 15 ได้ประสานงานผ่านทางยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้ช่วยพิจารณาและตรวจสอบเป็นกรณีเร่งด่วน พบว่าเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2552 มีหน่วยงานเอกชนยื่นขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือและป่ายางน้ำกลัดใต้
ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีได้มีหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ เล่มที่ 921 ฉบับที่ 19 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2562 อ้างอิงตามบันทึกการตรวจสอบพื้นที่ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรี ร่วมกับสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 สาขาเพชรบุรี ฉบับวันที่ 27 เมษายน 2556 ที่ระบุว่าพื้นที่ที่ขออนุญาตใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และไม่พบสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองในพื้นที่
พบว่าข้อมูลดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงในปัจจุบัน โดยจากการตรวจสอบโดยคณะทำงานและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พบว่าปัจจุบันพื้นที่ป่าที่มีการออกใบอนุญาตนั้น ได้ฟื้นตัวคืนสภาพกลับมาเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์แล้ว และยังพบสัตว์ป่าหลายชนิดเป็นจำนวนมาก รวมถึงสัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์ป่าสงวน ระบบนิเวศดีมาก
ยุทธพลจึงสั่งการให้อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ออกหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ขอให้พิจารณาทบทวนการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์และอยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติเล่มที่ 921 ฉบับที่ 19 และการขอประทานบัตรการทำเหมืองแร่โดโลไมต์ใหม่อีกครั้ง ซึ่งในขณะนี้เหมืองแร่ดังกล่าวยังไม่ได้รับใบอนุญาตทำเหมืองแร่จากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยขั้นตอนอยู่ระหว่างพิจารณาของอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี
ยุทธพลเปิดเผยว่า สำหรับพื้นที่ป่าดังกล่าวที่ได้มีการออกใบอนุญาตไปก่อนหน้านั้น อ้างอิงตามรายงานข้อมูลเก่าที่ระบุว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม แต่เมื่อตรวจสอบใหม่อีกครั้งพบว่าป่าได้ฟื้นตัวแล้ว ซ้ำยังมีสัตว์ป่าหลากชนิดเป็นจำนวนมาก จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะยอมให้มีการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ป่าดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม จะมีการตรวจสอบการทำรายงานประกอบการออกใบอนุญาตอีกครั้ง ว่าเหตุใดจึงใช้ข้อมูลเก่ามาประกอบการพิจารณา
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์