×

ม.เชียงใหม่พบพืชชนิดใหม่ ได้พระราชทานนาม ‘พรหมจุฬาภรณ์’ เตรียมต่อยอดพัฒนายาต้านมะเร็ง

โดย THE STANDARD TEAM
19.08.2019
  • LOADING...
พรหมจุฬาภรณ์

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานแถลงข่าวการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก โดยได้รับพระราชทานนาม ‘พรหมจุฬาภรณ์’ 

 

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2562 ณ โถงชั้น 1 อาคาร 40 ปี คณะวิทยาศาสตร์ ด้วยคณะนักวิจัย นำโดย ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู สังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมด้วย อานิสรา ดำทองดี นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาความหลากหลายทางชีวภาพและชีววิทยาชาติพันธุ์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ กิติศักดิ์ อ๋องย่อง นักวิจัยอิสระ ได้นำเสนอโครงการวิจัยเรื่อง ‘อนุกรมวิธานและวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของพรรณไม้วงศ์กระดังงา (Annonaceae) ในประเทศไทยที่หายากและยังไม่เป็นที่รู้จัก เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน’ 

 

ในการวิจัยครั้งนี้ได้ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก (new species) ในสกุลมหาพรหม (Mitrephora (Blume) Hook.f. & Thomson) จากป่าบนเขาหินปูนในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งพืชชนิดนี้มีลักษณะเด่นคือ เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงไม่เกิน 2 เมตร มีดอกขนาดเล็กที่สุดในสกุล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 1 เซนติเมตร สีขาวเด่น และเปลี่ยนเป็นสีครีมเมื่อดอกมีอายุมากขึ้น มีกลิ่นหอมปานกลางคล้ายกลิ่นดอกโมก กลีบดอกชั้นในประกบกันเป็นรูปโดม โคนกลีบคอด เผยให้เห็นช่องว่างระหว่างกลีบ ผลเมื่อสุกสีแดงอมส้ม

 

ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ กอปรกับเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้กราบทูลขอพระราชทานนามไทย ‘พรหมจุฬาภรณ์’ สำหรับพืชชนิดใหม่ของโลกชนิดนี้ และกราบทูลขอพระราชทานนามระบุชนิด ‘chulabhorniana’ เพื่อเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitrephora chulabhorniana Damth., Aongyong & Chaowasku และได้รับพระราชทานนามทั้งสอง อันเป็นเกียรติแก่คณะผู้วิจัยและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง

 

สำหรับพรหมจุฬาภรณ์ หรือ Mitrephora chulabhorniana Damth., Aongyong & Chaowasku ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Brittonia เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เป็นพันธุ์ไม้ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งยวด (critically endangered) พบเพียงไม่กี่ต้น บริเวณป่าดิบแล้งบนเขาหินปูนขนาดเล็กในอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่นอกเขตอนุรักษ์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบบนิเวศเขาหินปูนนั้นเป็นระบบนิเวศที่เปราะบาง และมักพบสิ่งมีชีวิตที่จำเพาะ กล่าวคือ ไม่พบที่อื่นใดอีก เมื่อถูกคุกคามมีโอกาสสูญพันธุ์สูง เขาหินปูนลูกที่พบต้นพรหมจุฬาภรณ์นี้มีโอกาสถูกคุกคามในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากการขยายตัวของสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน หรือแม้กระทั่งการระเบิดหินปูนเพื่อการใช้ประโยชน์ จึงสมควรอย่างยิ่งที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งประชาชนคนไทยทุกคน จักต้องช่วยกันหวงแหนเขาหินปูนในประเทศไทย เพื่ออนุรักษ์ไม่ให้สิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยและจากโลก นอกจากนี้ยังสามารถใช้เทคโนโลยีชีวภาพ โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เพื่อช่วยขยายพันธุ์ต้นพรหมจุฬาภรณ์ให้มีจำนวนมากขึ้น และนำไปปลูกอนุรักษ์ไว้ในสวนพฤกษศาสตร์ หรือสถานที่ราชการต่างๆ เป็นการลดโอกาสการสูญพันธุ์ของต้นพรหมจุฬาภรณ์

 

ที่สำคัญคือ พืชสกุลมหาพรหมหลายชนิดมีสารเคมีทุติยภูมิที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ต้นพรหมจุฬาภรณ์ก็อาจจะมีสารเคมีทุติยภูมิที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง และอาจพัฒนาเป็นยาต้านมะเร็งได้ในอนาคต 

 

 

ภาพ: คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง: 

  • คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising