ทีมวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ของสหรัฐฯ เผยผลการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพของมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing พบว่า การรักษาระยะห่างตามแนวทางปฏิบัติที่ระยะประมาณ 6 ฟุต หรือราว 1.8 เมตร ขณะอยู่ในพื้นที่ปิดหรือพื้นที่ในร่มนั้นไม่เพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ และควรที่จะต้องสวมหน้ากากอนามัยด้วย
เอกสารวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ในสภาพห้องที่เป็นพื้นที่ปิดที่มีระบบควบคุมการระบายอากาศนั้น การรักษาระยะห่างถึง 18 เมตร ไม่ได้ช่วยให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสที่ลอยแขวนอยู่ในอากาศ มากไปกว่าการรักษาระยะห่างที่ 1.8 เมตรแต่อย่างใด
แต่บริบทของข้อความนี้ยังขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ห้องและประสิทธิภาพในการระบายอากาศ รวมถึงสิ่งที่คนในห้องกำลังทำอยู่ ซึ่งนักวิจัยได้ทำการศึกษาด้วยการจำลองสภาพพื้นที่ในร่มแบบเดียวกับที่เกิดกรณีการแพร่ระบาดโควิด-19 แบบซูเปอร์สเปรดเดอร์ หรือการระบาดแบบคลัสเตอร์กลุ่มใหญ่ เช่น ในการฝึกซ้อมร้องเพลงประสานเสียง ที่สแกจิต วัลเลย์ รัฐวอชิงตัน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมติดเชื้อถึง 53 คน จากทั้งหมด 61 คน
โดยนักวิจัยจำลองสภาพห้องให้มีระบบระบายอากาศแบบปานกลาง และพุ่งเป้าการวิจัยไปที่การแพร่เชื้อผ่านละอองฝอยขนาดเล็กภายในห้อง ซึ่งสภาพห้องที่อากาศมีการหมุนเวียนไปรอบๆ มากพอนั้น จะทำให้อนุภาคของละอองฝอยที่มีเชื้อไวรัสเกาะอยู่ลอยในอากาศ และไม่ตกลงสู่พื้นในระยะเวลาอันสั้น
ขณะที่ทีมนักวิจัยยังได้คำนวณแนวทางความปลอดภัยจากการติดเชื้อขณะอยู่ในร่ม โดยพบว่า หากมีผู้ติดเชื้อรายหนึ่งโดยสารเที่ยวบินพาณิชย์พร้อมกับผู้โดยสารอีก 100 คน ผู้โดยสารคนอื่นๆ จะเผชิญความเสี่ยงในการติดเชื้อนานถึง 70 นาที
และหากผู้โดยสารทุกคนสวมหน้ากากอนามัย สภาพพื้นที่ปิดภายในห้องโดยสารเครื่องบินนั้นจะมีความปลอดภัยนานถึง 54 ชั่วโมง
จากข้อมูลวิจัยดังกล่าวอาจสรุปผลการวิจัยได้ว่า การรักษาระยะห่างเพียงอย่างเดียวนั้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันการติดเชื้อเมื่ออยู่ภายในพื้นที่ร่ม
อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยของ MIT ชี้ว่า ผลวิจัยที่ออกมามีการศึกษาวิธีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในสภาพพื้นที่ปิดเพียงวิธีเดียว พร้อมกันนี้ ทีมวิจัยยังพยายามชี้แจงต่อสื่อและสังคมออนไลน์ว่า งานวิจัยฉบับนี้เน้นให้ประชาชนเห็นถึงประโยชน์ของการรักษาระยะห่างทางสังคมและการสวมหน้ากากอนามัยในสภาพพื้นที่ปิด
“การศึกษาวิจัยของเราเน้นย้ำว่าการสวมหน้ากากอนามัยนั้น เป็นมาตรการความปลอดภัยในร่มที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง” เนื้อหาในเอกสารวิจัยระบุ
ภาพ: Lea Suzuki / The San Francisco Chronicle via Getty Images
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: