×

คิดถึงอาม่า ในวันแม่ ผู้ร้อยรักเชื่อมโยงสายใยครอบครัว

11.08.2018
  • LOADING...

เรามักจะรู้กันอยู่แล้วว่า สังคมจีนนั้นผู้ชายเป็นใหญ่ที่สุดในครอบครัว ผู้ชายคือผู้ถืออำนาจ ผู้ชายจะมีศรีภรรยากี่คนก็ได้ ผู้ชายคือผู้เลือก ผู้ชายคือทุกอย่าง ไม่ว่าจะสืบสกุล ดูแลทรัพย์สมบัติ หรือได้รับมรดกตกทอดมากที่สุด เพราะว่าผู้หญิงเมื่อแต่งงานแล้วก็หมายถึงเป็นคนของตระกูลอื่น ก็ต้องออกจากบ้านไป ไม่มีสิทธิ์มายุ่งเกี่ยวกันอีก ไม่ว่าจะการตัดสินใจอะไร หรือทรัพย์สินใดๆ ส่วนใหญ่ก็จะแบ่งๆ ทรัพย์สินกันไปเลย หมดสิทธิ์ในการเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

แต่ครอบครัวของฉันไม่ใช่แบบนั้นเลย บ้านนี้ตรงข้ามกับประเพณีจีน จริงอยู่ภายนอก เหมือนอากงจะเป็นใหญ่ แต่อาม่าต่างหากที่ใหญ่กว่า

 

ถึงอากงจะดุ หาเงินเข้าบ้าน แต่อาม่ากุมบังเหียนทุกอย่าง (อันนี้เป็นเฉพาะครอบครัวอากงอาม่านะคะ ครอบครัวพ่อแม่ฉันจะกลับมาโบราณอย่างเดิมค่ะ คือพ่อเป็นใหญ่)

 

อาม่าหรือย่าของฉัน แม่ของพ่อ คือแม่ผู้ยิ่งใหญ่ของครอบครัวเรา คนที่บ้านเหมือนกันหมด แตะใครก็ได้ ด่ากันได้ เมาท์อากงก็ได้ นินทาอากงก็ได้ แอบเมาท์คนโน้นคนนี้ในครอบครัวได้หมด ยกเว้นอาม่าคนเดียว

 

อาม่าเป็นประหนึ่งเทพผู้สูงสุด ใครแตะมีโดนยำ เรียกว่ารุมตีนกันเลยทีเดียว…ไม่ว่าอาม่าจะยังอยู่หรือเสียชีวิตไปมากกว่ายี่สิบปีแล้วก็ตาม แต่ไม่มีใครยอมให้แตะต้องเลยสักนิดเดียว (ฉันนี่แหละค่ะ คนแรกเลย หลังบทความนี้ ถ้าคนในครอบครัวได้อ่าน ฉันอาจจะไม่รอดบาทาคนในครอบครัวเลยทีเดียว)

ชีวิตของอาม่าผู้เป็นใหญ่ในครอบครัวคนจีน

ในช่วงที่อาม่าขายน้ำเต้าหู้ในตลาดสวนพลู ฉันก็เพิ่งได้รู้ไม่นานนี้เองว่า อาม่าปล่อยเงินกู้ให้กับแม่ค้าในตลาดด้วย

 

ปกติพวกเจ้าหนี้เงินกู้จะเป็นที่รังเกียจหรือเป็นที่โดนนินทาลับหลัง (แต่ต่อหน้าก็ประจบประแจง) อาม่าจะไม่โดนแบบนั้นเลย ฉันเพิ่งได้รู้ไม่นานนี้เองว่า พวกแม่ค้าลูกหนี้อาม่า รักอาม่ามาก อาจจะเป็นเพราะอาม่าไม่ได้คิดดอกแพง แล้วไม่เคยไปตะโกนด่าใครที่ไม่จ่าย อาม่าจะทำงานในตลาด ขายน้ำเต้าหู้เงียบๆ ไป แล้วให้ลูกชายคนเล็กเป็นคนเดินเก็บดอกหรือเงินต้นไป โดยที่อาม่าจะไม่ไปยุ่งด้วยเด็ดขาด หน้าที่เก็บหนี้สินจะใช้เด็กผู้ชายตัวเล็กๆ อย่างอาคนเล็กของฉันนี่แหละค่ะ เป็นคนวิ่งเก็บ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องทางจิตวิทยาในการทวงหนี้ก็ได้นะคะ ฉันเองก็ไม่เข้าใจหรอก

 

ลูกเก้าคน แท้งไปหนึ่งคน เป็นอะไรที่ต้องเลี้ยงด้วยเงินที่มากกว่าค่าน้ำเต้าหู้แน่ๆ ค่ะ เพราะว่าฉันเองก็เกิดมาทันเคยช่วยอาม่าขายอยู่ ก็แค่สองบาทต่อถ้วย หรือถุงหนึ่ง

 

การที่รู้ว่าอาม่าเป็นเจ้าแม่เงินกู้ในตลาด เป็นอะไรที่ทำให้การแอบจิ๊กเงินอาม่าสมัยที่ฉันยังเด็กๆ เป็นความผิดในใจที่ลดลงไปเยอะเลย แหะๆ

 

อาม่าไม่ได้เป็นคนจีนที่เกิดในไทยค่ะ อาม่าอพยพมาพร้อมอาไท้ (ทวด) ทั้งสอง แล้วมาเพิ่มลูกหลานที่นี่ บ้านเดิมเป็นคนโพธาราม ในขณะที่อากงมากันแค่พี่ชายกับน้องชาย แล้วเมื่อสองคนแต่งงานกัน อากงก็ต้องมาพึ่งพาบ้านเมียในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองครั้งหนึ่ง แล้วก็มีการช่วยเหลือในช่วงหลังจากโรงงานทอผ้าที่สามย่านไฟไหม้ แล้วก็ต่อเนื่องในการส่งลูกไปอยู่ที่บ้านโพธารามมาโดยตลอด เรียกได้เลยว่า ครอบครัวของฉันนั้น มีที่พึ่งเป็นบ้านฝั่งเมียของอากงเป็นหลัก นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ ไม่ว่าอากงจะทะเลาะตบตีกับอาม่าหนักขนาดไหน แต่อากงก็จะสั่งคนอื่นห้ามแตะต้องอาม่าเด็ดขาด เพราะอาม่าและครอบครัวของอาม่าคือที่พึ่งของครอบครัวเราในช่วงเจริญเติบโตของรุ่นลูก

 

ในช่วงต่อมา เมื่อพวกน้องๆ ของอาม่าทยอยแต่งงานแล้วเริ่มมีลูก เวลาที่ลูกพี่ลูกน้องของพ่อฉันฝั่งโพธารามจะต้องเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ก็จะมาพักกันที่บ้านเล็กๆ ในสลัมสวนพลูนี่แหละค่ะ เอาเป็นว่า ห้องเล็กๆ สามห้องนี่ เบียดกันอยู่เกือบสิบห้าคนได้ เรียกว่านอนเบียดกันชนิดลมหายใจแทบจะชนกันเลยก็ว่าได้ แต่ความที่ทุกคนยังวัยรุ่นและเป็นเด็ก ทุกอย่างจึงเป็นความสนุก

 

แต่การเลี้ยงครอบครัวใหญ่ คนเลี้ยงไม่ได้สนุกไปด้วย ณ ตอนนั้น แม่ฉันได้แต่งงานเข้ามาแล้ว แล้วก็มาช่วยทำงานในโรงงาน ในปี 2513 ก็ได้ตั้งครรภ์เป็นฉัน คลอดฉันในปีถัดมา หลังจากที่คลอดฉันมา แม่ของฉันบอกว่า อาม่าเริ่มมีเงินแล้ว ไม่ได้ยากจน เพราะเป็นเจ้าแม่เงินกู้นี่แหละค่ะ แต่ก็ยังงกอยู่มาก ยิ่งกับลูกสะใภ้นี่เรียกได้ว่า งกสุดๆ

 

ที่กล้าพูด เพราะแม่ของฉันคือผู้ตามที่แสนดี ไม่เคยค้าน ไม่เคยโวยวาย ไม่เคยบ่นพล่ามอะไรเลยกับแม่สามี เรียกได้ว่าผู้ใหญ่ว่าอะไรก็ทำตามทุกอย่าง

 

แม่ของฉันเล่าว่า พอแต่งงานเข้ามา อาม่านี่โยนหน้าที่หนักมาให้ก่อนเลย ก็คือซักผ้าทุกคนในบ้าน

 

ลองนับๆ ดูก็เกือบสิบคนได้ ซักทุกวัน ซักจนท้องฉันได้ 8 เดือน เรียกได้ว่าท้องแก่มาก ตอนนี้แหละที่ป้าข้างบ้านเข้ามาช่วย แกมาบอกว่าจะเป็นแม่ผัวใจร้ายหรือไง ใช้ลูกสะใภ้ซักผ้าให้ทุกคน อาม่าแกเลยคิดได้ โยนหน้าที่ซักผ้ากลับไปให้พวกอาผู้หญิงของฉันกลับไปซักกันเอง แล้วซักให้พวกพี่ๆ ผู้ชายด้วย

 

แล้วเป็นไงคะ เหล่าอาอาของฉันที่สบายมาหลายเดือนก็หงุดหงิดตามประสาแหละค่ะ คิดว่าสะใภ้จะจิกหัวใช้งานได้ ตอนแม่ของฉันเล่าให้ฟังนี่ก็ขำกันมาตลอดแหละค่ะ เรื่องมันผ่านมานานจนกลายเป็นเรื่องตลกไปแล้ว

 

ถึงแม้อาม่าจะใจดี ดีงามแค่ไหน แกก็มีส่วนด่างพร้อยบ้างตามความเป็นปุถุชนทั่วไป ทุกคนล้วนมีข้อเสียนะคะ

 

แม่ฉันไม่ได้ผจญฤทธิ์แม่ผัวแค่นี้นะคะ ตอนคลอดฉัน แกก็มีเงินพอที่จะให้แม่ของฉันไปอยู่ในห้องรวมปกติได้ แต่แกไม่ทำค่ะ แกให้แม่ของฉันไปทำคลอดฟรี แล้วพักฟื้นในห้องผู้ป่วยอนาถาของโรงพยาบาลจุฬาฯ ไม่ทราบมีใครเคยเกิดที่ห้องนี้บ้างเอ่ย…

 

แม่ของฉันบอกว่า จำไม่ได้จริงๆ ว่าตึกไหน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทุบไปหรือยัง แม่บอกว่า เป็นตึกเก่าๆ สองชั้น เข้าไปทางประตูหนึ่งของฝั่งถนนอังรีดูนังต์ สภาพตึกสมัยนั้นก็เริ่มแย่แล้ว ไม่น่าจะรอดมาถึงปัจจุบันได้หรอก แม่บอกอย่างนั้นนะคะ

 

 

ความอนาถาที่แม่จำฝังใจไม่ลืมเลย

มันเป็นยังไงหรือคะ ไม่ต้องจินตนาการไกลมากค่ะ ก็แค่เตียงผู้ป่วยหนึ่งเตียงสไตล์ต่างจังหวัดแบบกรงเหล็ก แต่มีคนไข้นอนเบียดกันสองคน แม่ฉันบอกว่ามันน่ากลัวนะ เพราะคืนแรกที่นอน มีเจ้าของเตียงคนเก่ามาชวนไปอยู่ด้วย แต่แม่ของฉันบอก ลูกเพิ่งจะคลอด ไปด้วยไม่ได้หรอก แล้วพ่อกับอากงของฉันคงเห็นสภาพที่ดูอนาถาจริงๆ ดังนั้นในวันรุ่งขึ้นแม่ของฉันก็ได้ไปอยู่ห้องคนไข้รวม ซึ่งมีค่าเตียงนอนคืนละ 16 บาท ได้นอนหนึ่งคนหนึ่งเตียงอย่างปกติชน  

 

สักสองสามวัน แม่ก็ออกจากโรงพยาบาลค่ะ ตอนช่วงที่ตั้งท้องฉันนี่ แม่ก็ไม่รู้อะไรมาก เสียค่าเตียงไปไม่กี่สิบบาท พอถัดมาเป็นน้องชายของฉัน อาม่ากับแม่ก็เริ่มฉลาดแล้ว ก็ไปฝากท้องกับหมอที่ได้รับการแนะนำมา เลยมีค่าคลอดอยู่ที่ 500 บาท ซึ่งเทียบกับค่าเตียงนอนห้องรวมราคาคืนละ 16 บาท ค่าทำคลอดห้าร้อยนี่ถือว่าแพงนะคะ ยุคนั้น ข้าวแกงก็สองสามบาทแล้วค่ะ

 

ในฐานะแม่ผัวโบราณ ก็เป็นธรรมดาที่จะกดขี่ลูกสะใภ้ (จนคนข้างบ้านด่า) ก็ดูเหมือนจะใจร้ายสักหน่อย แต่ในความเป็นแม่และเป็นย่า อาม่าคือทุกสิ่งของลูกและหลาน

 

กับลูกๆ อาม่าคือนายทุนให้ทุกคน ทุนการศึกษา ทุนสร้างอาชีพ ทุนสร้างชีวิต และทุนความรักและความอบอุ่น

 

ในความเป็นย่า อาม่าคือความอบอุ่น ถึงฉันจะเป็นหลาน แต่ก็เป็นหลานคนแรกสุดของอาม่า และไม่ได้ใช้ชีวิตในวัยเยาว์อยู่กับพ่อแม่ เพราะทั้งสองต้องไปสร้างโรงงานโดยทุนของอาม่าอย่างหนัก จนไม่มีเวลาเลี้ยงลูก ก็เลยส่งฉันและน้องๆ คนถัดมาให้ไปอยู่กับอากงอาม่าในสลัมสวนพลู

 

ซึ่งเราก็ไม่รู้หรอกว่า ความห่างพ่อห่างแม่นั้นได้สร้างปัญหาทางจิตใจตามประสาวัยรุ่นให้เราไหม แต่ถ้าถามว่า เมื่อคิดถึงอะไรในอาม่า สิ่งแรกคือ อ้อมแขนเหี่ยวๆ ที่แสนจะนิ่มนวลอบอุ่นยามที่ฉันได้ซบนอนหลับ ไม่มีหมอนใบไหนที่ให้ความนุ่มได้เท่าแขนอาม่า แล้วอีกอย่างก็คือ เค้กวันเกิดที่เป็นแค่ขนมไข่เล็กๆ แล้วมีเทียนไหว้พระสีเหลืองเสียบอยู่ แล้วอาม่าก็บอกว่า ร้องเพลง Happy Birthday เองได้ไหม อาม่าร้องไม่เป็น แต่ก็ไม่ลืมวันเกิดของหลานคนนี้ (ทั้งๆ ที่จริงๆ แกรักหลานชายมากกว่าหลานสาวนะคะ)

 

สิ่งหนึ่งที่อาม่ามีเสมอมาคือ มารยาทที่งดงามที่สอนให้พวกเรามีมารยาททางสังคมที่เกินกว่าคนในสลัมทั่วๆ ไป อันนี้ไม่ได้ดูถูกคนชั้นล่างนะคะ เพราะเราก็เด็กสลัมมาก่อนเหมือนกัน แต่เราก็มองคนข้างบ้าน มองคนใกล้ตัวใกล้บ้านเรา ฉันเรียกได้ว่าไม่มีเพื่อนสนิทข้างบ้านเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะเราโดนเลี้ยงมาอย่างแตกต่างกันมากๆ ถึงแม้จะอยู่ในสภาวะแวดล้อมเดียวกัน

 

ต้นแบบฉบับที่อาม่าชื่นชมเสมอมาก็คือ องค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ของพวกเรานี่แหละค่ะ พระจริยวัตรที่งดงามยิ้มแย้มเสมอยามอยู่ในที่สาธารณะ ทรงเป็นต้นแบบแห่งการเป็นแม่ที่ดีให้กับปวงชนชาวไทย การที่ทรงเป็นพระมารดาที่ทุ่มเท ทรงมีรอยยิ้มให้กับทุกคน ภาพแห่งความรักความอบอุ่น องค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ คือต้นแบบของผู้หญิงที่เป็นแม่ทุกคน

 

ทั้งๆ ที่จริงๆ อาม่านี่อยู่บ้านจะหน้าบึ้งแล้วดุมาก แต่เวลาไปข้างนอก อาม่าจะดูใจดีสุดๆ เลยค่ะ จนบางทีต้องเหลือกตามองบน นินทาอาม่าในใจว่า อืม ก่อนออกจากบ้านยังอารมณ์เสียอยู่เลย พอออกมานอกบ้าน ยิ้มหวานเชียว

 

 

วันแม่ปีนี้ คิดถึงอาม่า เลยอดใจเขียนถึงอาม่าไม่ได้

ถึงแม้ว่าวันแม่แห่งชาติที่มีมาในครั้งแรกๆ จะไม่ได้มาจากวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 แต่มาจากรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวันที่ 10 สิงหาคม 2486 และได้หายจากไปเพราะสงครามโลกครั้งที่สอง

 

ต่อมาก็พยายามจัดขึ้นมาอีกครั้งในปี 2493 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีก แม้แต่สมาคมครูโรงเรียนคาทอลิก แห่งประเทศไทย ก็พยายามจัดขึ้นวันที่ 4 ตุลาคม 2515 ก็จัดได้เพียงปีเดียว

 

จนกระทั่งปี 2519 สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดให้วันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เป็นวันแม่แห่งชาติ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วันแม่แห่งชาติก็มั่นคงมาโดยตลอด

 

สมัยฉันยังเด็กจนโตเป็นสาว วันแม่คือวันหยุดอยู่บ้านค่ะ แต่ทุกวันนี้ บรรยากาศเปลี่ยนไป วันแม่คือวันที่ร้านอาหารสุกี้ชื่อดังคิวเต็มตลอดทุกห้างสรรพสินค้า เรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมใหม่ของไทยเลยค่ะ

 

แล้วอีกวัฒนธรรมหรือประเพณีที่เข้ามาใหม่แล้วยังเป็นที่ถกเถียงกันในระดับหน่วยครอบครัวจนกระทั่งระดับปัญญาชนและผู้ปฏิบัติการ ก็คงเป็นเรื่องการเชิญคุณแม่ของคุณนักเรียนทั้งหลายมาที่โรงเรียนเพื่อให้ลูกๆ ได้กราบโชว์กันในวันแม่แห่งชาติที่โรงเรียน นี่เป็นสิ่งที่ยากสำหรับหลายๆ ครอบครัว และเป็นสิ่งที่ง่ายๆ สำหรับอีกหลายๆ ครอบครัว

 

ฉันคงไปวิจารณ์ใครไม่ได้ แต่ครอบครัวเรามีความรักและความสามัคคีเป็นกาวประสานความสัมพันธ์ โดยที่ไม่เคยบอกรักต่อกัน ไม่เคยกราบเท้ากัน ก็เลยอาจจะเขินๆ หน่อย เพราะกอดกันก็ยังไม่เคย

 

แต่การมีประเพณีใหม่เข้ามาก็ดีเหมือนกันนะคะ มันทำให้เราเรียนรู้ที่จะแสดงออกถึงความรักในครอบครัวให้มากขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากการพูดว่ารักมากขึ้นในครอบครัว หรือกอดกันให้มากขึ้น ถกเถียงกันให้น้อยลง แสดงความเห็นทางการเมืองให้ลดลง จะได้อยู่ด้วยกันรอดในครอบครัวและสังคมไทย แล้วค่อยไปเจอกันในคูหาเลือกตั้งที่ต่างคนต่างเลือกโดยไม่สนว่าใครในครอบครัวจะรักใครชอบใครหรือเลือกใคร

 

ว่าแต่…ฉันเขียนมาสู่เรื่องการเมืองได้อย่างไรกันนี่…

ว่าแต่ เมื่อไรจะได้เลือกตั้ง…

 

…สวัสดีวันแม่ค่ะ…

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising