ชาวเมียนมาหลากหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อย ตลอดจนกวี นักเขียนและแรงงานในหลายเมืองทั่วประเทศ พร้อมใจกันออกมาร่วมชุมนุมประท้วงบนท้องถนนเมื่อวานนี้ (20 กุมภาพันธ์) เพื่อต่อต้านการรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพ โดยไม่หวั่นเกรงการเผชิญหน้ากับตำรวจและทหารที่ควบคุมสถานการณ์ พร้อมทั้งเรียกร้องให้กองทัพปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรค NLD และนักการเมืองขั้วประชาธิปไตยหลายคนที่ยังคงถูกกักตัว
กระแสประท้วงต้านรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ จนถึงวันนี้ยังไม่มีท่าทีจะแผ่วลงง่ายๆ แม้กองทัพจะให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่และส่งมอบอำนาจให้ผู้ชนะ
ซึ่งตลอดหลายวันที่ผ่านมา สถานการณ์ชุมนุมในหลายเมืองยิ่งทวีความรุนแรง หลังตำรวจไม่ยอมให้เกิดการชุมนุม โดยพยายามใช้ทั้งกระสุนยางและรถฉีดน้ำแรงดันสูง สลายกลุ่มผู้ประท้วงจนทำให้มีผู้บาดเจ็บ
ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงยังใช้วิธีกดดันแบบอารยะขัดขืนในหลายรูปแบบ ทั้งเรียกร้องลูกจ้างรัฐให้หยุดงานและจอดรถกีดขวางถนน เพื่อทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของทางการเป็นอัมพาต
บรรยากาศทั่วเมียนมาตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นอีก หลังเมื่อวันศุกร์ (19 กุมภาพันธ์) มีข่าวการเสียชีวิตของ เมียะ ตะแวะ ตะแวะ ข่าย หญิงสาววัย 20 ปี ที่เข้าร่วมชุมนุมในกรุงเนปิดอว์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาและถูกยิงด้วยกระสุนจริงเข้าที่ศีรษะระหว่างที่ตำรวจสลายผู้ชุมนุม
ซึ่งเมื่อวานนี้ (20 กุมภาพันธ์) ที่กรุงเนปิดอว์และย่างกุ้ง มีประชาชนไม่น้อยพร้อมใจนำพวงหรีดและดอกไม้ไปวางในพิธีไว้อาลัยที่จัดขึ้นเพื่อแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของผู้ประท้วงหญิงรุ่นเยาว์
“ความเศร้าจากการเสียชีวิตของเธอเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เรายังมีความกล้าที่จะเดินหน้าต่อไปเพื่อเป้าหมายของเธอ เราต้องการคน 100 คนที่จะยืนหยัดและทำหน้าที่แทนเธอ”
ที่เมืองมิตจีนา เมืองเอกของรัฐกะฉิ่น มีชาวเมืองหลายพันคนออกมาร่วมชุมนุมประท้วงและเผชิญหน้ากับตำรวจปราบจลาจล ก่อนที่สถานการณ์จะทวีความรุนแรงหลังตำรวจสลายการชุมนุม
การเดินขบวนประท้วงยังปรากฏในเมืองมรดกโลกอย่างพุกามและเมืองพะสิม ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี เช่นเดียวกับมัณฑะเลย์ ซึ่งวานนี้มีทั้งกลุ่มนักเขียน กวี และแรงงานการรถไฟออกมาร่วมเดินขบวนประท้วงอย่างสันติ ก่อนที่ตำรวจจะใช้กระสุนยางสลายการชุมนุม
ภาพ: Stringer / Anadolu Agency via Getty Images
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: