×

ชุดสืบสวนคดีมินนี่ร้องอัยการสูงสุด เร่งอัยการพิจารณาสำนวนไม่ให้ช้า เหตุตำรวจที่ทำคดีถูกฟ้องกลับด้วยเจตนาไม่สุจริต

โดย THE STANDARD TEAM
07.03.2024
  • LOADING...

วันนี้ (7 มีนาคม) มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา ที่สำนักงานอัยการสูงสุด พ.ต.ท. มนต์ชัย บุญเลิศ รองผู้กำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 ในฐานะพนักงานสืบสวนผู้กล่าวหาคดีเว็บการพนันที่มีนายตำรวจเข้าไปเกี่ยวพัน ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ อำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด

 

ความว่า ด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 593/2566 ได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 724/2566 ของกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 คดี ระหว่างตนในฐานะผู้กล่าวหา กับ ณัฐวัตร พิมพ์สวัสดิ์ ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก รวม 61 คน ไปยังอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และอธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต

 

เพื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 142 คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเป็นข้าราชการตำรวจซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้รับผิดชอบทำการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาที่ 724/2566 อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในการดำเนินการกระบวนการยุติธรรมเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ

 

แต่กลับถูกกลุ่มผู้ต้องหากับพวกฟ้องร้อง ร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งได้กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่เมื่อครั้งปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจค้นจับกุมกลุ่มผู้ต้องหากับพวก จนกระทั่งคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในศาล รวมจำนวน 10 เรื่อง ดังนี้

 

1. วันที่ 27 กันยายน 2566 พล.ต.ต. นำเกียรติ ธีระโรจนพงษ์ (ผู้ต้องหาที่ 23) กับพวกรวม 8 คน (ผู้ต้องหาที่ 12, ที่ 20, ที่ 21, ที่ 22, ที่ 24, ที่ 25 และที่ 26) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งไต่สวนการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดอำนาจศาลของ ร.ต.อ. ฤทธิ์ธาดา เครือสุข (พนักงานสอบสวนผู้รับคำร้องทุกข์ คดีอาญาที่ 468/2566 สถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ) กรณียื่นคำร้องขอหมายจับ

 

โดยอ้างว่าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีเจตนาที่จะปกปิดข้อเท็จจริงหรือให้ข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จต่อศาลผู้พิจารณาหมายจับและหมายค้น ปกปิดยศข้าราชการตำรวจในการขอออกหมายจับและหมายค้น โดยประสงค์ที่จะกลั่นแกล้งผู้ร้องทั้งแปด อันเป็นเข้าข่ายการละเมิดอำนาจศาล และขอให้มีการเพิกถอนหมายจับ หมายค้น และหมายขังดังกล่าว

 

ซึ่งต่อมาในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้พิจารณาวินิจฉัยแล้วมีความเห็นว่า การร้องขอให้ออกหมายจับของผู้ร้องมีพยานหลักฐานและรายละเอียดครบถ้วนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 66 แล้ว

 

หมายจับที่ออกโดยศาลอาญากรุงเทพใต้จึงเป็นหมายที่ชอบด้วยกฎหมาย พฤติการณ์ยังไม่พอให้รับฟังว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 พิจารณามีคำสั่งยกคำร้อง

 

2. พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลอาญาเพื่อพิจารณาว่าการยื่นคำร้องขอออกหมายค้นมีการปกปิดข้อเท็จจริงถึงความเป็นเจ้าบ้านต่อศาลหรือไม่ ศาลอาญาจึงได้มีหมายนัดถึงศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (พล.ต.ต. ทินกร รังมาตย์) ผู้ยื่นคำร้องขอออกหมายค้นของศาลอาญา คำร้องที่ ค 416/2566 หมายค้นเลขที่ 416/2566 เพื่อนัดไต่สวนข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566

 

โดยผลการพิจารณา ศาลอาญาได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องทราบว่าการยื่นคำร้องขอออกหมายค้นไม่ได้มีการปิดบังข้อเท็จจริงและไม่ได้มีการละเมิดอำนาจศาล

 

3. วันที่ 11 ตุลาคม 2566 ธันยนันท์ สุจริตชินศรี หรือ มินนี่ (ผู้ต้องหาที่ 2) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.ท. ไตรรงค์ ผิวพรรณ กับพวก รวม 12 คน เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 184/2566 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งต่อมาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้ตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้วพบว่ายังไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 (5) จึงได้มีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขฟ้องให้ถูกต้องเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566

 

จากนั้นต่อมาในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ทนายโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เป็นคดีหมายเลขแดงที่ อท 241/2566

 

4. วันที่ 11 ตุลาคม 2566 พ.ต.ท. คริษฐ์ ปริยะเกตุ (ผู้ต้องหาที่ 21) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.อ. กฤตัชญ์ บำรุงรัตนยศ กับพวก รวม 10 คน เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 141/2566 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7

 

ในฐานความผิดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยกล่าวหาว่าการตรวจยึดทรัพย์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และ 157)

 

5. วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 พล.ต.ต. นำเกียรติ ธีระโรจนพงษ์ (ผู้ต้องหาที่ 23) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท. มนต์ชัย บุญเลิศ (ผู้กล่าวหา), พล.ต.ต. ทินกร รังมาตย์, พ.ต.อ. ธรรมศักดิ์ สารบุญ และ ร.ต.อ. ฤทธิ์ธาดา เครือสุข รวม 4 คน เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 203/2566 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง

 

ในฐานความผิดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยกล่าวหาว่าการร้องทุกข์กล่าวโทษ การยื่นคำร้องขอออกหมายจับและหมายค้น การคัดค้านการขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาชั้นตรวจคำฟ้อง

 

6. เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566 พ.ต.อ. เขมรินทร์ พิศมัย (ผู้ต้องหาที่ 24) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.ท. ธนา ชูวงศ์ กับพวก รวม 244 คน เป็นจำเลย (กล่าวคือ คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่ง ตร. ที่ 593/2566 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2566) พร้อมด้วย พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ และ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ อท 224/2566

 

ในฐานความผิดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่เข้าข่ายขัดขวางกระบวนการสืบสวนสอบสวน และดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหากับพวก ซึ่งกลุ่มผู้ต้องหากับพวกได้อาศัยเหตุที่ได้มีการฟ้องร้องดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างในการร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจที่เป็นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนว่าเป็นคู่กรณีหรือคู่ขัดแย้ง พร้อมทั้งร้องขอให้มีการเปลี่ยนตัวคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ทั้งที่การดำเนินการของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มิใช่คู่ขัดแย้งซึ่งเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน

 

นอกจากนี้ พ.ต.อ. ภาคภูมิ พิศมัย (ผู้ต้องหาที่ 20) กับพวก รวม 8 คน ยังได้ร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการในการให้คำแนะนำปรึกษาการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ ทั้งที่เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด และการให้คำแนะนำปรึกษาดังกล่าวก็เป็นไปเพื่อความละเอียดรอบคอบในการทำสำนวนการสอบสวนให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมายและยังเป็นการให้ความเป็นธรรมแก่กลุ่มผู้ต้องหา เหตุเพราะเป็นคดีที่มีการกล่าวหาว่าข้าราชการตำรวจกระทำความผิด

 

คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนจึงได้เชิญหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเข้าร่วมให้คำแนะนำปรึกษาด้วย ซึ่งนอกจากพนักงานอัยการแล้ว ยังมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้าร่วมด้วย การที่กลุ่มผู้ต้องหาร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ พร้อมทั้งแนบภาพถ่ายในลักษณะเจตนาให้เข้าใจว่ามีผู้เฝ้าติดตาม และฟ้องร้องหรือร้องเรียนคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน จึงน่าเชื่อว่ากลุ่มผู้ต้องหากระทำการด้วยเจตนาไม่สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนตนในทางคดี

 

เนื่องจากคดีอยู่ระหว่างการสอบสวนเพิ่มเติมตามคำสั่งของพนักงานอัยการ ย่อมกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการและคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ทำให้การสอบสวนเพิ่มเติมเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะเหตุที่ต้องชี้แจงข้อเท็จจริงและแก้ต่างคดี และการที่กลุ่มผู้ต้องหาบางรายซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจผู้มีความรู้ด้านกฎหมาย กลับนำความมาฟ้องหรือร้องเรียนคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับความผิดอาญาโดยรู้อยู่แล้วว่ามิได้มีความผิดอาญาเกิดขึ้น

 

ทำให้ข้าราชการตำรวจที่ถูกร้องหรือร้องเรียนดังกล่าวเสื่อมเสียต่อชื่อเสียง มีมลทินมัวหมองเพราะต้องหาคดีอาญา และอาจเข้าข่ายเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา

 

ดังนั้นจึงขอให้ท่านได้อำนวยความยุติธรรม กำชับกำกับการพิจารณาวินิจฉัยสำนวนในชั้นพนักงานอัยการตามระเบียบกฎหมายมิให้เนิ่นช้า เพราะเป็นคดีสำคัญและเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและทำให้ความชอบธรรมปรากฏในคดีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเป็นข้าราชการตำรวจที่มีหน้าที่โดยตรงในการรักษาและบังคับใช้กฎหมาย แต่กลับถูกดำเนินคดีเป็นผู้ต้องหาเสียเอง

 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเยียวยาความเสียหายต่อชื่อเสียงของบรรดาเจ้าพนักงานในการยุติธรรม เรียกความเชื่อมั่นศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม และเพื่อประโยชน์ของทางราชการและอำนวยความยุติธรรมให้บังเกิดต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ทางพนักงานอัยการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้รับสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 724/2566 ซึ่งเป็นคดีที่ตำรวจได้เข้าจับกุมผู้ต้องหาซึ่งเปิดเว็บพนันออนไลน์ betfixroyal.com และสามารถจับกุม ธันยนันท์ หรือ มินนี่ หรือ ‘เครือข่ายมินนี่’ ผู้ต้องหาตามหมายจับกับพวกในช่วงปี 2566

 

สำหรับสำนวนที่อัยการรับมานั้นเป็นของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 (บก.สอท.1) ที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นทางคดีว่าสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา 14 คน (เดิมผู้ต้องหามีทั้งหมด 60 กว่าคน) และใน 8 จาก 14 คนเป็นตำรวจ ซึ่งเป็นลูกน้องของรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติด้วย

 

สำหรับรายชื่อทั้ง 14 คน ประกอบด้วย

 

  1. ณัฐวัตร พิมพ์สวัสดิ์ ผู้ต้องหาที่ 1
  2. ธันยนันท์ สุจริตชินศรี ผู้ต้องหาที่ 2
  3. อรณี ทองอรุณ ผู้ต้องหาที่ 3
  4. พ.ต.ต. ชานนท์ อ่วมทร ผู้ต้องหาที่ 12
  5. ทักษพร พงษ์เหมวัฒนา ผู้ต้องหาที่ 13
  6. กิตติชัช ปภัสโรบล ผู้ต้องหาที่ 14
  7. พ.ต.อ. ภาคภูมิ พิศมัย ผู้ต้องหาที่ 20
  8. พ.ต.ท. คริษฐ์ ปริยะเกตุ ผู้ต้องหาที่ 21
  9. พ.ต.อ. อาริศ คูประสิทธิ์รัตน์ ผู้ต้องหาที่ 22
  10. พล.ต.ต. นำเกียรติ ธีระโรจนพงษ์ ผู้ต้องหาที่ 23
  11. พ.ต.อ. เขมรินทร์ พิศมัย ผู้ต้องหาที่ 24
  12. ส.ต.อ. ณัฐวุฒิ หวัดแวว ผู้ต้องหาที่ 25
  13. ส.ต.อ. อภิสิทธิ์ คนยงค์ ผู้ต้องหาที่ 26
  14. ภัสราวดี พิศมัย ผู้ต้องหาที่ 61
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising